ประวัติวัดลี้หลวง

......................................

                วัดลี้หลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่ตั้งขึ้นมานานแล้วโดยมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงเก่า หรือเวียงเจดีย์ ดังนี้
                เวียงเก่าหรือเวียงเจดีย์เป็นเมืองโบราณซึ่งร้างไปนานแล้ว แต่มีหลักฐานอันเป็นซากตัวเมืองร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดลี้หลวง ห่างประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันมีกำแพงเมืองเก่าที่ก่อด้วยอิฐดินเผา คูเมือง ซากสิ่งก่อสร้างอันมีเจดีย์เก่า กองอิฐและรากฐานสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยอิฐดินเผาแบบโบราณก้อนโตๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นซากของโบสถ์หรือวิหาร กองอิฐหรือซากอิฐโบราณเหล่านี้ปรากฎให้เห็นอยู่เป็นแห่งๆทั้งในและนอกกำแพงเมืองเก่า

                หลักฐานซากสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองหรือวัดเหล่านี้ ไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ว่ามีความเป็นมาอย่างใด แต่สัณนิษฐานจากซากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฎให้เห็นประมาณกาลเวลาได้ว่าคงเป็นเมืองโบราณที่สร้างหรือมีอยู่เมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว คืออาจะก่อนประวัติคนไทยอพยพมาอยู่ในบริเวณนี้ ที่เชื่อและสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมผุพังลงนั้นมีมูลดินทับถมและจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเล่าว่า

                ก่อนที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญชาวอำเภอลี้หรือที่เรียกกันทั่วไป นักบุญแห่งล้านนาไทย จะมาทำการบูรณะเจดีย์ที่เวียงเก่าหรือเมืองโบราณเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๐ นั้น บริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่ขนาด ๒ – ๓ คนโอบรอบขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นป่ารกทึบ ปัจจุบันก็ยังมีปรากฏให้เห็นเป็นแห่งๆอยู่ สังเกตจากลักษณะและขนาดของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหลังจากเมืองร้างไปแล้วนั้น ประมาณได้ว่าไม่น้อยกว่าพันปี

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเล่าสืบต่อๆกันมาว่า เวียงเก่าหรือเมืองโบราณนี้ เป็นเมืองของพวกขอมหรือละว้า เรื่องราวที่เล่ากันมามีว่า  ครั้งเมืองเก่ายังรุ่งเรืองอยู่นั้นมีสิ่งก่อสร้างอันเป็นที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ กำแพงเมือง มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ คนไทยอพยพมาอยู่จึงได้มีการต่อสู้แย่งชิงที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ระหว่างคนไทยกับคนชาติอื่นที่อาศัยอยู่เดิม เมื่อเจ้าของถิ่นเดิมไม่อาจต่อสู้อยู่ได้ก็ถูกขับไล่หนีไป สิ่งก่อสร้างต่างๆอันเป็นบ้านเป็นเมืองก็ถูกทำลายย่อยยับตามธรรมเนียมการสู้รบสมัยโบราณ

                ส่วนบริเวณอันเป็นที่ตั้งวัดลี้หลวงนี้ เดิมก็เป็นซากวัดเก่าร่วมสมัยกับเวียงเก่า และได้มีการสร้างวัดนี้ขึ้น ณ ที่นี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ภายหลังก็ร้างไปอีก เนื่องจากผู้คนที่อพยพมาอยู่ครั้งนั้นได้อพยพหนีต่อไปอีก จึงทิ้งบ้านเรือน วัดวาอารามให้ร้างอีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงสมัยที่มีการต่อสู้กันระหว่างคนไทยล้านนากับคนไทยศรีอยุธยา ผู้คนจึงอพยพจากเมืองเชียงใหม่ – ลำปาง หนีภัยศึกการสู้รบมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดยเป็นที่หลบลี้หนีภัย จึงได้เรียกชื่อแหล่งที่อยู่ใหม่นี้ว่า เมืองลี้ ตั้งชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านว่า แม่น้ำลี้ ต่อมาเมื่อมี พรบ.การปกครองท้องถิ่นใช้บังคับ จึงได้ตั้งชื่อว่า แขวงเมืองลี้ และเป็นอำเภอลี้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

                เมื่อได้อพยพหลับภัยศึกมาตั้งหลักแล่งอยู่ครั้งหลังสุดนี้ ผู้คนที่มาอยู่ซึ่งเป็นคนไทยพื้นเมือง จึงได้ปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่แห่งนี้ขึ้น โดยสร้างวิหารขึ้นครอบซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของเดิมที่มีอยู่พร้อมกับพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ อันเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มนั้นมาแต่เดิม รวม ๓ องค์  ก็คือพระพุทธรูปที่ปรากฎในปัจจุบันนั่นเอง พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์และมีค่ายิ่ง เป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองลี้โดยทั่วกัน  เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปโบราณได้เคยมีคนร้ายพยายามมาลักขโมยหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถนำไปได้ ครั้งหลังสุดเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีคนร้ายพยายามขโมยเอาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ไป แต่ก็ไม่สามารถยกหรือหามออกไปจากซุ้มไปได้ ความพยายามของคนร้ายทำให้พระกรรณข้างขวาของพระพุทธรูปองค์หนึ่งบิ่นไป

                เมื่อก่อนที่ครูบาศรีวิชัย จะได้มาทำการบูรณะเจดีย์ที่เวียงเก่า ได้มีผู้ไปพบพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งที่ซากวัดร้างกลางเมืองเก่า ความทราบถึงเจ้าอาวาสวัดลี้หลวง จึงได้นำคณะศรัทธาไปอัญเชิญมาไว้ ณ วัดลี้หลวง ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นเป็นการถาวร จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวเข้าไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถ จนตราบเท่าทุกวันนี้ พระพุทธรูปองค์นี้ ท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่สวยงามมากที่สุดในจังหวัดลำพูน

                โดยที่วัดลี้หลวงเป็นวัดเก่าแก่และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป แต่ปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างของวัดอันเป็นเสนาสนะเช่น กุฎิ เป็นต้นรวมทั้งวิหาร เป็นสิ่งที่ก่อสร้างมานาน เก่าและชำรุดทรุดโทรม สมควรที่จะได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์อีกมากมาย  ปัจจุบันกำลังทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญที่ยังคงค้างการก่อสร้างและต้องใช้ปัจจัยอีกมากมาย

รายนามเจ้าอาวาสวัดลี้หลวง
...................

๑.      เจ้าอธิการเต๋จา                                                             

๒.    เจ้าอธิการปัญญา

๓.     เจ้าอธิการโสภา

๔.     เจ้าอธิการอุปนันท์

๕.     เจ้าอธิการไชยวงศ์

๖.      พระครูมหารัตนากร

๗.     เจ้าอธิการผุย  มหาชโย

๘.     เจ้าอธิการต๋วน  ปภสฺสโร

๙.      พระอธิการบุญผ่าน  รตนโชโต

๑๐.  พระครูพิสิฎฐ์สุมงคล

 

บริเวณด้านหลังของวัดลี้หลวง มุมมองจากถนนมิตรประชา

รูปด้านหน้าวิหารวัดลี้หลวงปัจจุบัน

วิหารวัดลี้หลวง

โบสถ์วัดลี้หลวง