สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารใบลานวัดลี้หลวง ขึ้นในปีพ.ศ.๒๕๕๘ ด้วยหลักการและเหตุผลดังนี้

อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเป็นอำเภอเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี เกี่ยวเนื่องกับตำนานเจ้าแม่จามรี เจ้าหญิงจากล้านช้างที่ยกกองกำลังลี้ภัยมาหาเมืองใหม่พำนักอาศัย โดยอาศัยการเสี่ยงทายของช้างทรงจึงได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณนี้เรียกว่าเมืองลี้เมืองลี้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับจนเสื่อมลงและกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด ในปัจจุบันนี้หลงเหลือซากโบราณสถานให้เห็นเป็นบางแห่ง และหลายแห่งยังคงปรากฏการใช้งานในรูปแบบของวัด เช่น วัดลี้หลวง ที่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

          บริเวณที่ตั้งของวัดลี้หลวง เดิมเป็นซากวัดเก่าที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับเวียงโบราณ เคยมีการสร้างวัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ได้ร้างไปอีก จนกระทั่งเกิดศึกระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยา ผู้คนที่อพยพมาอยู่บริเวณนี้จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้สร้างวิหารขึ้นครอบซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของเดิมพร้อมพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์รวม 3 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอลี้ซึ่งได้อัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปีทีช่วงเทศกาลสงกรานต์

          นอกจากพระพุทธรูปองค์สำคัญแล้ว วัดลี้หลวงยังเก็บรวมรวบเอกสารโบราณเช่น คัมภีร์ใบลานที่จดบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนาจำนวนมากในหอไตร ประมาณการว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 200 ผูก ซึ่งนับเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งที่ยังไม่มีการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปริวรรตเอกสารโบราณเหล่านั้นให้เป็นอักษรไทยมาตรฐานที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในปัจจุบัน

          เอกสารโบราณดังเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์วัตถุโบราณ มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและปัจจัยต่างๆ เช่น ฝุ่น เชื้อรา แมลง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียสมบัติทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษไปอย่างน่าเสียดาย คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้จึงเห็นว่าควรจะร่วมกันอนุรักษ์เอกสารโบราณเหล่านี้ให้มีอายุยืนนานต่อไปด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง การจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณเพื่อทราบเนื้อหาที่มีอยู่ในเอกสารโบราณแต่ละหมวดหมู่ รวมถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลเพื่อบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพถ่าย อันจะเป็นการเก็บรักษาในรูปแบบดิจิตอลที่จะง่ายต่อการใช้งานต่อไป

          การทำงานทั้งหมดนั้นจะดำเนินการโดยชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่นและประชาชนที่มีความรู้ในภาษาล้านนาและความสนใจที่จะร่วมดำเนินงานในโครงการเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้ยืนยาวไปถึงลูกหลานในอนาคตต่อไป อีกทั้งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนให้เกิดความรู้สึกผูกพันและหวงแหนวัฒนธรรม สมบัติของท้องถิ่น และสร้างความสามัคคีขึ้นในชุมชน

         สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้จึงได้ดำเนินการกิจกรรมตามโครงการ  โดยได้ปรึกษาหารือกับพระครูพิสิฎสุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง ผู้ใหญ๋บ้านหมู่ที่ ๖ บ้านลี้ นายจันทร์  ยะสุคำ มัคนายกวัดลี้หลวง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีบ้านลี้ ตลอดจนคณะศรัทธาสาธุชนวัดลี้หลวง ซึ่งได้เชิญวิทยากรมาจากสำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้ความรู้แก่อาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการครั้งนี้ อบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำความสะอาดใบลานตามมกระบวนการและวิธีการที่ถูกต้อง  เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๘  มีผู็เข้ารับการอบรมประมาณ ๓๐ คน ซึ่งในการดำเนินการครั้งนี้  เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่บรรพบุรุษ เทพาอารักษ์ เสื้อวัดตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  ได้ประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวก่อนที่จะเปิดหอธรรม และนำคัมภีร์ใบลานในหีบธรรมลงมาทำความสะอาดด้วยวิธีการที่ได้รับการอบรมมา

        ในแต่ละวันจะมีอาสาสมัครมาทำความสะอาดใบลาน โดยใช้ความละเอียดรอบคอบ และมีมัคนายกและครูภูมิปัญญาที่มีความสามารถอ่านและเขียนตัวอักขระล้านนา(ตั๋วเมือง) ได้ มาทำการสำรวจและลงทะเบียนจำแนกเป็นหีบ และคัดแยกในส่วนที่ทำความสะอาดแล้วและในส่วนที่ชำรุดเพื่อทำการซ่อมบำรุงต่อไป  ในส่วนที่ทำการสำรวจเสร็จเรียบร้อย จะถูกจำแนกออกเป็นกัปและเรียงตามเรื่องและจำนวนผูกและนับจำนวนหน้าของใบลาน  หลังจากนั้นจะได้ทำการเก็บรักษาไว้ในหีบธรรมเช่นเดิม แะในส่วนของการเก็บเอกสารใบลานเหล่านี้ ได้ดำเนินการจัดเก็บในรูปไฟล์ดิจิตอล เพื่อความยั่งยืนและสามารถนำมาสืบค้นภายหลังได้

     หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจงานอนุรักษ์เอกสารใบลานวัดลี้หลวงนี้แล้ว  คาดว่าจะมีประเพณีตากธรรมหรือกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นกุศโลบายที่จะให้ชุมชนได้มีการติดตามและร่วมกันอนุรักษ์ให้ยั่งยืนต่อไป  นอกจากนี้ ยังอาจจัดกิจกรรมฟื้นฟูตัวอักษรล้านนาโดยให้พระสงฆ์ - สามเณร ได้ฝึกฝนในการอ่านและเขียนตัวอักษรล้านนา(ตั๋วเมือง) ให้เกิดความแตกฉานและจะได้ศึกษาสาระสำคัญของเรื่องราวในใบลานเหล่านี้อีกส่วนหนึ่ง  


พระครูสุกิจจาภรณ์และคณะสงฆ์มาร่วมเป็นที่ปรึกษา

หอธรรมวัดลี้หลวงที่ผ่านการซ่อมแผวมมาหลายครั้ง

นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ประชุมชี้แจงในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ

ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความคิดเห็น

ประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวเทวดา พระภูมิเจ้าที่ เสื้อวัด เทพาอารักษ์

เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจเข้าร่วมพิธีด้วย

ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครให้มีความเข้าใจในวิธีการและขั้นตอนี่ถูกต้อง

หอธรรมวัดลี้หลวงที่เก็บหีบธรรมคัมภีร์ใบลาน

วิทยากรจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แนะนำการใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดใบลาน

คัมภีร์ใบลานวัดลี้หลวงที่ถูกเก็บไว้มาเป็นเวลานาน

ลงมือปฏิบัติการ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

อาสาสมัครผู็หญิงก็มาช่วยพันสำลี อุปกรณ์ทำความสะอาด

คัมภีร์ใบลานส่วนที่ถูกคัดแยกออกมาเนื่องจากชำรุด

บางส่วนก็ชำรุดยากเกินกว่าที่จะซ่อมบำรุง

ต้องอาศัยบุคลากรในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

ผ้าห่อคัมภีร์ที่เปื้อนฝุ่นและชำรุด ถูกนำไปซักล้างทำความสะอาด

ซักแล้ว ตากให้แห้ง บางส่วนสามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป

วิทยากรแนะนำในการลงทะเบียนคัมภีร์ใบลานที่ทำความสะอาดแล้ว

บางผูกที่ม่ชัดเจน ก็สามารถแก้ไขให้สามารถอ่านได้

      เนื่องจากคัมภีร์ใบลานวัดลี้ ที่ถูกเก็บไว้ในหอธรรมมีจำนวนมากพอสมควร นับได้จำนวนถึง ๗ หีบ และแต่ละหีบก็จะถูกบรรจุคัมภีร์ใบลานทั้งเก่าและใหม่ ประมาณร่วม ๑,๐๐๐ ผูกและหลายร้อยเรื่อง บางส่วนถูกเก็บไว้อย่างดี มีไม้ประกัป มีผ้าห่อคัมภีร์ แต่บางส่วนก็ชำรุด ผูกร่อนเนื่องด้วยกาลเวลา  
      จากการปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา  พบว่า ได้เคยมีความพยายามที่จะทำการสำรวจไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๖ สมัยพ่ออาจารย์อินทร  สิงหนาท ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ในสมัยนั้น

      ด้วยภารกิจด้านครอบครัวและการประกอบอาชีพของอาสาสมัครที่ตั้งใจมาร่วมทำงาน ทำให้การปฏิบัติงานชะงักไปในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๕๘ เพราะเข้สเทศการสงกรานต์ล้านนาหรือปี๋ใหม่เมือง และถัดมาก็มีงานประเพณ๊บวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ทางสัดลี้หลวงและคณะศรัทธาจึงขอใช้เวลาในการช่วยงานดังกล่าวให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อน

     ต่อมาคณะอาสาสมัครได้กลับมาปฏิบัติงานต่อ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เป็นต้นมา  ได้มีอาสาสมัครที่พอจะมีเวลาผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานเรื่อยมาจนกว่าจะแล้วเสร็จ