สืบเนื่องจากวัดลี้หลวงซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองลี้  เดิมเป็นซากวัดเก่าที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับเวียงโบราณ เคยมีการสร้างวัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ได้ร้างไปอีก จนกระทั่งเกิดศึกระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยา ผู้คนที่อพยพมาอยู่บริเวณนี้จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้สร้างวิหารขึ้นครอบซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของเดิมพร้อมพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์รวม 3 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอลี้ซึ่งได้อัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปีทีช่วงเทศกาลสงกรานต์
นอกจากพระพุทธรูปองค์สำคัญแล้ว วัดลี้หลวงยังเก็บรวมรวบเอกสารโบราณเช่น คัมภีร์ใบลานที่จดบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนาจำนวนมากในหอไตร ซึ่งนับเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งที่ยังไม่มีการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปริวรรตเอกสารโบราณเหล่านั้นให้เป็นอักษรไทยมาตรฐานที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในปัจจุบัน

นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้แล้วติดต่อประสานงานกับพระครูพิสิฎฐ์สุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง พร้อมด้วยมัคนายก ผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อขออนุญาตในการทำความสะอาดใบลานของวัดลี้หลวง จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์วัตถุโบราณ มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและปัจจัยต่างๆ เช่น ฝุ่น เชื้อรา แมลง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียสมบัติทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษไปอย่างน่าเสียดาย จึงเห็นว่าควรจะร่วมกันอนุรักษ์เอกสารโบราณเหล่านี้ให้มีอายุยืนนานต่อไปด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง การจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณเพื่อทราบเนื้อหาที่มีอยู่ในเอกสารโบราณแต่ละหมวดหมู่ รวมถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลเพื่อบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพถ่าย อันจะเป็นการเก็บรักษาในรูปแบบดิจิตอลที่จะง่ายต่อการใช้งานต่อไป

          สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้เสนอข้อมูลต่างๆเพื่อขอรับการสนับสนุนชื่อโครงการ “การอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดลี้หลวง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยได้เสนอไปที่กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 20,000 บาท มาดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยนางธิตินัดดา  จินาจันทร์ นักวิจัย พร้อมคณะ ได้ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่อาสาสมัครในชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการและกระบวนการขั้นตอนการทำความสะอาดใบลาน การสำรวจลงทะเบียนและการจัดเก็บรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  เนื่องจากได้รับงบประมาณสนับสนุนค่อนข้างน้อย จึงทำให้ไม่เพียงพอในการดำเนินการให้สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เทศบาลตำบลวังดิน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วน จนสามารถดำเนินการทำความสะอาดใบลานเสร็จสิ้นโดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน แต่การจัดเก็บรักษาในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลยังไม่สมบูรณ์ 

          ต่อมาทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์จังหวัดลำพูน ได้สนับสนุนต่อยอดโครงการดังกล่าว โดยผ่านสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจำแนกหมวดหมู่ ประเภทของคัมภีร์ใบลาน ซึ่งพบว่ามีพระธรรมคัมภีร์มากกว่า 2,000 ผูก ประมาณ 800 เรื่อง (ข้อมูลบอกเล่าจากหนึ่ง ชนินทร์)ซึ่งได้มี ดร.พิสิทธิ์  โคตรสุโพธิ์ มาติดตามการดำเนินงาน ให้คำปรึกษาและแนะนำเป็นอย่างดียิ่ง
          ในกระบวนการที่ได้ดำเนินการตามโครงการภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณ สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้ขอความร่วมมือมัคนายกและครูภูมิปัญญาที่มีความสามารถในการสอนอักขระล้านนา(ตั๋วเมือง) ให้แก่อาสาสมัครผู้สนใจในการเรียน ใช้เวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งผลปรากฏเป็นที่น่าพอใจ เนื่องด้วยทำให้ผู้สมัครมาเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถอ่านและเขียนอักขระล้านนา(ตั๋วเมือง) ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าตอบแทนวิทยากร จำนวน 6,000 บาท และได้นำผู้ใหญ่บ้าน มัคนายกและภูมิปัญญาพร้อมด้วยอาสาสมัครไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไว้มากที่สุด  โดยได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้นำรูปแบบการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานผ่านพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา จำลองรูปแบบมาดำเนินการที่วัดลี้หลวง ซึ่งเป็นครั้งแรกของเมืองลี้

          สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้ร่วมมือกับคณะศรัทธาวัดลี้หลวง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลวังดิน จำนวน 30,000 บาท ได้ดำเนินการจัดงานพิธีตากธรรม ตานข้าใหม่หิงไฟพระเจ้าขึ้นในวันที่ 22 – 23 มกราคม 2559 ณ วัดลี้หลวง
          การตากธรรม (ธรรม  ในล้านนา หมายถึง คัมภีร์ใบลาน)   เป็นประเพณีโบราณที่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรได้ให้กุศโลบาย    เพื่อเก็บรักษาและสืบต่อวรรณกรรม  คัมภีร์ให้ยืนยาว   โดยมีกระบวนการในการรักษาคัมภีร์ผ่านพิธีกรรมความเชื่อ   โดยการนำคัมภีร์โบราณ  ปั๊บสา  ที่อยู่ในหอไตร  ออกมาตากแดด  ควบคุมความชื้น เก็บรักษาโดยการห่อผ้าและการเขียนคัมภีร์ชุดใหม่ขึ้นมาโดยประเพณีตากธรรม  มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ใหม่และการสืบทอดคัมภีร์ใบลาน   กล่าวคือก่อนที่จะมีประเพณีตากธรรม  ประมาณเดือน ๔ เหนือ ของทุกปี พระสงฆ์และชาวบ้านจะใช้ความรู้ด้านพุทธศาสนาและความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่ตนมีอยู่มาเขียน หรือ บันทึก เรื่องราวของชุมชน  ก่อนที่จะนำมาเทศน์ (บอกเล่า) และร่วมแห่งฉลองในพิธีตากธรรม  หลังจากนั้นก็ถวายคัมภีร์ธรรมเหล่านั้นให้กับวัดจนกลายเป็น   "ประเพณีตากธรรม"   

การตานข้าวใหม่ ทุกปีในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน  ๔  เหนือ (ประมาณเดือน มกราคม )  ชาวพุทธศาสนาล้านนา  มีประเพณีตานข้าวใหม่ และหิงไฟพระเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ    วัดลี้หลวงและวัดอื่นในอำเภอลี้และจังหวัดลำพูน ยังคงรักษาประเพณีเหล่านี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้น  เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่ที่ได้เก็บเกี่ยวจากนาเข้ายุ้งฉาง ที่บ้านแล้วจะนำมานึ่งให้สุกเพื่อนำมาตักบาตร ตานขันข้าว อุทิศไปให้พ่อแม่ และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  ก่อนที่จะนำมารับประทาน  และปัจจุบันนี้ได้มีการนำข้าวใหม่มาทำเป็นข้าวหลาม แล้วนำมาใส่บาตร  พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันก็ยังมีประเพณีหิงไฟพระเจ้าด้วย
          การหิงไฟพระเจ้า  คือ การนำไม้ขนาดขนาดกว้าง ๑ นิ้ว ยาวประมาณ ๔๐-๕๐  นิ้ว  ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่นไม้จี้หรือไม้คันทา ไม้โมกมัน ไม้สปันงา มาเหลาปอกเปลือกแล้วทาสีเหลือง พอถึงวันพระก็นำไม้ไปประเคนพระประธานในโบสถ์แล้วนำไม้เหล่านั้น  มารวมกันทำเป็นกระโจมไว้หน้าโบสถ์หรือวิหาร ทำพิธีถวายทานไม้ฟืนหรือตานหลัวแก่พระเจ้า ซึ่งหมายถึงพระพุทธรูปในโบสถ์หรือในวิหารนั่นเอง พอถึงเวลาก็ทำพิธีจุดไฟ   ซึ่งในอดีตพิธีนี้ปฏิบัติกันเพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวแก่พระสงฆ์และผู้มาทำพิธีในวัด

คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะศรัทธาวัดลี้หลวงประกอบด้วยพระครูพิศิษฎ์สุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง นายจันทร์  ยะสุคำ มัคนายก นายสันติ ธรรมสุภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านลี้ พร้อมด้วยผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำชุมชน  กลุ่มสตรี  ได้ตกลงพร้อมใจกันจัดงานพิธีตากธรรม ตานข้าวใหม่หิงไฟพระเจ้า วัดลี้หลวงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำคณะผู้นำชุมชนไปศึกษาเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานของวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ และขออนุญาตนำมาเป็นต้นแบบในการจัดงาน   จากการประชุมปรึกษาหรือกัน จึงได้จัดงานพิธีตากธรรม ตานข้าใหม่หิงไฟพระเจ้าวัดลี้หวงขึ้นในวันที่ 22 – 23 มกราคม 2559 โดยในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2559 นั้น มีการตั้งขบวนแห่พระธรรมคัมภีร์จากหน้าที่ว่าการอำเภอลี้ เวลา 15.00 น.โดยมีหีบพระธรรมที่ใช้บรรจุพระธรรมคัมภีร์ของวัดลี้หลวง ติดตามด้วยขบวนพระสงฆ์ – สามเณรจำนวน 60 รูปแบกพระธรรมคัมภีร์พร้อมด้วยคณะศรัทธาสาธุชนที่เข้าร่วมขบวนประมาณ 250 คน อุ้มพระธรรมคัมภีร์และขบวนดนตรีพื้นเมือง กลองล้านนา แห่ไปตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนไชยเจริญ ผ่านชุมชนบ้านทุ่ง เลี้ยวขวาไปตามถนนมิตรประชา ผ่านสะพานแม่แต๊ะ ผ่านหน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอลี้ มุ่งสู่วัดหลวง  เมื่อขบวนแห่เข้าสู่ลานวัดลี้หลวง มีอุบาสกอุบาสิกา โปรยข้าวตอกดอกไม้ต้อนรับสองข้างทาง และมีขบวนฟ้อนขันดอกของผู้สูงอายุวัดลี้หลวง ฟ้อนต้อนรับ เพื่อเป็นศิริมงคล จากนั้นมีพิธีเปิดงาน โดย นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี ซึ่งนายสุรสิทธิ์  ทองรวย นายกเทศมนตรีตำบลวังดิน ได้กล่าวเปิดงานพิธีตากธรรม ตานข้าวใหม่หิงไฟพระเจ้าวัดลี้หลวง  ต่อจากนั้นขบวนได้นำพระธรรมคัมภีร์ทั้งหมดเข้าสู่ที่ตั้งในวิหารหลวง ประกอบพิธีทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลแด่ครูบาอาจารย์ ภูมิปัญญาที่ได้เคยจารธรรม ถวายทานพระธรรมคัมภีร์ไว้

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2559  ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เหนือ(เดือนสี่เป็ง) เช้ามืดของวันนี้ เจ้าอาวาสวัดลี้หลวงได้ถวายทานฟืนหรือหลัวต่อพระประธานในวิหารแล้วจุดไฟหิงไฟพระเจ้าตามความเชื่อมาแต่โบราณ มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
          เวลา 09.00 น.ได้ประกอบพิธีตากธรรม ตานข้าใหม่หิงไฟพระเจ้า ขึ้น โดยได้นิมนต์พระสงฆ์พิธี จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สืบชะตา ตามขั้นตอนพิธีตากธรรม ดังนี้

          พิธีกรเล่าความเป็นมาของการมาทำการสำรวจ อนุรักษ์และทำฐานข้อมูลรายการคัมภีร์โดยคณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงว่า มีคัมภีร์จำนวน 810 เรื่อง มีพระธรรมคัมภีร์ใบลานมากกว่า 2,000 ผูก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคัมภีร์ที่ใช้เทศนาแก่ศรัทธาญาติโยม   นอกจากนี้
ดร.พิสิทธิ์  โคตรสุโพธิ์  ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการที่ได้เลือกวัดลี้หลวงในการสำรวจฐานข้อมูลครั้งนี้ เนื่องจากวัดลี้หลวงเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีสิ่งสำคัญหลายประการที่ศรัทธาสาธุชนสมควรที่จะไดร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้ยั่งยืนสืบไป

          จากนั้นได้เชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระสมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนาจากพระครูพิศิษฎ์สุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง ซึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักขระล้านนา(ตั๋วเมือง) จบแล้วได้อาราธนาพระครูสิริสุตานุยุติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดลำพูน พระครูพิศิษฎ์สุมงคล เข้าอาวาสวัดลี้หลวงพร้อมด้วยประธานในพิธีและดร.พิสิทธิ์  โคตรสุโพธิ์  ได้ร่วมกันประกอบพิธีตากธรรม ตามขั้นตอนคือ ใช้วัสดุเช็ดทำความสะอาดใบลานจากคัมภีร์ที่เตรียมไว้แล้ว ประธานร้อยสายสยองเข้ากับใบลานในผูกเดียวกันมัคนายก กล่าวโอกาส ขอขมาพระธรรม ในพิธีตากธรรมและอาราธนาพระสงฆ์ เจริญพระปริตรสมโภชพิธีตากธรรม  กล่าวคำโอกาสถวายพระธรรมคัมภีร์และจตุปัจจัยไทยธรรม เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศล ไปถึงผู้จารธรรม เข้าภาพถวายธรรม ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้วหรือที่ยังมีชีวิต
       เชิญประธานและผู้ร่วมพิธีถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์ในพิธี พระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จแล้วแผ่เมตตาแบบพื้นเมือง
       ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ – สามเณร
       เลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้มาร่วมงานแบบโรงทาน

เวลา 13.00 น. ได้เชิญประธานและเจ้าศรัทธาช่วยกันห่อธรรมทั้งหมดเข้าคัมภีร์(ผ้าห่อ) อย่างดี ทั้งพระสงฆ์และเจ้าศรัทธาร่วมกันนำพระธรรมเข้าขบวนแห่ รอบพระวิหาร นำพระธรรมคัมภีร์เข้าไปเก็บไว้ที่หอธรรม(หอไตร) วัดลี้หลวง เป็นเสร็จพิธี

พิธีตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า วัดลี้หลวง

ขบวนแห่พระธรรมคัมภีร์ ตั้งขบวน ณ ที่ว่าการอำเภอลี้

พระสงฆ์ - สามเณรเมตตามาร่วมขบวนแห่พระธรรม

คณะศรัทสาธุชนร่วมขบวนแห่พระธรรมคัมภีร์

 

 

ผู้สูงอายุวัดลี้หลวง ฟ้อนขันดอกต้อนรับขบวนแห่พระธรรมคัมภีร์

ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี

นายสุรสิทธ์  ทองรวย นายกเทศมนตรีตำบลวังดิน กล่าวเปิดงาน

ประธานพิธีลั่นฆ้องชัยเปิดงานพิธีตากธรรม

สามเณรนำพระธรรมคัมภีร์ไปไว้ในวิหารหลวง

 

ประธานจุดธูปเทียน เพื่อประกอบพิธีทักษิณานุปทาน

พระครูพิศิษฎ์สุมงคล จุดไฟหิงไฟพระเจ้า เช้ามืดของวันที่ 23 มกราคม 2559

ศรัทธาสาธุชนมาร่วมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า

ศรัทธาสาธุชนมาร่วมพิธีตากธรรมในเดือนสี่เป็ง

พ่อหนานนา  บ้านบวก มาสาธิตการจารธรรมบนใบลาน

 

ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

พระครูสิริสุตานุยุติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดลำพูน

พระครูพิศิษฎ์สุมงล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง เทศนาธรรม

พระครูพิศิษฎ์สุมงคล เปิดพระธรรมคัมภีร์ เพื่อเตรียมทำความสะอาด

พระครูสิริสุตานุยุติ เช็ดใบลาน

นายณฐกร  ภัทรวนนท์ ปลัดอาวุโสอำเภอลี้ ประธานในพิธี ทำการร้อยสายสยองใบลาน

พระสงฆ์พิธี 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์สืบชะตา

พระครูสิริุตานุยุติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ กล่าวสัมโมทนียกถาแก่ศรัทธาญาติโยม

แห่พระธรรมคัมภีร์ เพื่อนำไปเก็บที่หอไตรวัดลี้หลวง

 

นำพระธรรมคัมภีร์ขึ้นสู่หอไตรวัดลี้หลวง