ประวัติวัดพระธาตุห้าดวง

..........................

นะโมตัสสะ โสทุสสนะ ปางเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า "พระสมณโคดม" (องค์ปัจจุบัน) ยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เป็นเวลา ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป พระองค์เกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้างเป็นมนุษย์บ้าง เพื่อสร้างสมบารมีเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติต่างๆของพระองค์ก็ล้วนแล้วแต่บำเพ็ญเพื่อตรัสรู้พระธรรมอันประเสริฐหรืออนุตตรสัมโพธิญาณ เพื่อพาสรรพสัตว์ทั้งหลายซึ่งดำเนินรอยตามพระองค์ ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งมวล โดยไม่กลับมาเกิดอีก นั่นคือ พระนิพพาน
.........ณ สมัยก่อนพุทธกาล เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นวัวกระทิงป่า อพยพจากอโยธยา (อยุธยา) เพื่อท่องเที่ยวหากินไปในที่ต่างๆ ขณะนั้นพระโคมารดากำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ เมื่อได้เดินทางลุมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง เหมาะที่จะเสาะหาหญ้ากินเพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าอ่อนและมีลำห้วยสำหรับดื่มกินน้ำ จึงได้พาฝูงมาอาศัยอยู่ ณ บริเวณนั้น (ปัจจุบัน คือ บริเวณวัดพระธาตุจอมสวรรค์หรือเหมืองลานนาลิกไนต์ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ไปสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เพื่อที่จะให้เป็นสถานที่ที่ควรแก่การสักการะบูชา) พระโคมารดาได้อาศัยหญ้าและน้ำบริเวณนี้เลี้ยงชีวิตเป็นเวลานานพอสมควร จนครรภ์แก่เดินขึ้นลงหุบเขาด้วยความลำบาก จึงมาพิจารณาดูว่าควรจะพาฝูงวัวกระทิงทั้งหมดไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะครรภ์แก่ใกล้จะให้กำเนิดพระโคโพธิสัตว์ จึงได้พาบริวารจำนวนห้าร้อยตัวลงจากดอยจอมสวรรค์ท่องเที่ยวหาบริเวณที่เหมาะสมที่จะให้กำเนิดพระโคตัวน้อยจนมาพบสถานที่ที่ถูกใจ มีหมู่พฤกษาหอมตลบอบอวล ต้นไม้ใหญ่น้อย
ร่มรื่น ลำห้วยลำธารน้ำใสสะอาด มีหญ้าอ่อนขึ้นอยู่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ถูกใจของพระโคมารดา จึงได้หยุดพักอาศัย ณ บริเวณนี้ด้วยความสุขสบายทั้งกายและใจ (บริเวณนี้ คือดอยอุศุภราช หรือบริเวณวัดพระธาตุห้าดวงปัจจุบัน) จนประสูติพระโคโพธิสัตว์ "อุศุภราช" ณ บริเวณใต้ต้น ดอกบุนนาค พระโคน้อยเมื่อประสูติจากพระครรภ์มารดา ก็มีลักษณะสวยงาม แข็งแรง ผิดลูกวัวกระทิงทั่วไป พระโคมารดาก็ได้เลี้ยงดูฟูมฟักพระโคน้อยจนเติบใหญ่ ท่องเที่ยวหากินพร้อมบริวารอยู่ ณ บริเวณดอยอุศุภราชนี้อย่างสงบสุข เพื่อพระโคมารดาได้เฒ่าชราลง พระโคโพธิสัตว์ก็ได้เลี้ยงดูพระโคมารดาด้วยความกตัญญู จนกระทั่งได้พาพระโคมารดาไปท่องเที่ยวหากินไกลออกไปยังที่ใหม่ ซึ่งมีน้ำและหญ้าอุดมสมบูรณ์ จนพระโคมารดาได้มาปลงชีวิตสังขารลงณ สถานที่นี้ จึงได้ชื่อว่า "หนองวัวเฒ่า" (ปัจจุบันคือบริเวณที่พระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือหลวงปู่ครูบาวงศ์แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม ท่านได้สร้างเจดีย์ชเวดากองจำลองขึ้น เพื่อเป็นการประกาศความดีขององค์สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าและเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงจนครบ ๕,๐๐๐ ปี) เมื่อพระโคมารดาได้ละสังขารไปแล้ว พระโคอุศุภราชก็พาบริวารท่องเที่ยวหากินไปมาระหว่างดอยอุศุภราชและสถานที่ที่พระโคมารดาได้ละสังขาร จนแก่ชราจึงได้ละสังขารตามพระโคมารดาไป ณ หนองวัวเฒ่านั้นเอง (หลวงปู่ครูบาวงศ์ ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า เมื่อพระโคอุศุภราชได้เฒ่าชราลงเดินไม่ไหวได้เกิดอาการคันที่หัว ก็เอาหัวไปสีหรือถูกับต้นไม้เพื่อให้หายคัน ต่อมาเมื่อพระโคอุศุภราชได้ละสังขารไปแล้ว ต้นไม้ที่พระโคได้เอาหัวไปถูก็เกิดมีกิ่งลักษณะคล้ายเขาโค หลวงปู่จึงได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ท่านบอกว่าเป็นเขาของพระโคอุศุภราช

พระโพธิสัตว์ได้เวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างบารมี รวมเวลา ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป ซึ่งรวมพระชาติที่พระองค์เคยเกิดเป็นพระโคอุศุภราชอยู่ด้วย พระองค์ก็มาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์เมื่อพระองค์ได้เห็นความทุกข์ของคน คือ การเกิด , แก่, เจ็บ, ตาย พระองค์จึงเกิดความสังเวชและคิดหาทางที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระนามว่า "พระสมณโคดม" เมื่อตืนวันเพ็ญเดือน ๖ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์จึงเสด็จออกโปรดเวไนยสัตว์ เพื่อให้แสงสว่างแก่สัตว์โลก พระองค์ได้เสด็จไปในสถานที่ต่างๆ ซึ่งพระองค์ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า ควรจะเสด็จไป ณ สถานที่ใด เวลาใดและทรงทราบว่า เมื่อทรงเสด็จไปแล้วมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เมื่อพระองค์ทรงทราบชัดจึงเสด็จไป ณ ดอยอุศุภราชนี้ก็เป็นสถานที่หนึ่ง ที่พระองค์ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพระโคอุศุภราช ณ ดอยอุศุภราช จึงได้ทรงพิจารณาและเสด็จมาพร้อมพระอานนท์และบรรดาพุทธสาวกอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ณ ดอยอุศุภราชเป็นเวลาสว่างพอดี ดอยอุศุภราชนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
"ดอยจอมแจ้ง" (คำว่า "สว่าง" ภาษาเหนือเรียกว่า "แจ้ง") พระองค์ก็ทรงประทับนั่งยังใต้ต้นดอกบุนนาคต้นเดิม ต้นที่พระโคมารดาได้ให้กำเนิดพระโคน้อย (หลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านยืนยันว่า เป็นต้นเดิมและเวลานั้นดอกอุศุภราชเป็นป่าดอกบุนนาค)พญาลั๊วะหรือเจ้าเมืองลั๊วะ เมื่อรู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ซึ่งสมัยนั้นดอยอุศุภราชเป็นที่อยู่ของชาวลั๊วะ พญาลั๊วะและลูกบ้านชาวลั๊วะก็พากันเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำเอาโภชนาหารมาถวายพร้อมผลไม้และน้ำดื่ม พระองค์เมื่อทรงรับโภชนาหารพร้อมผลไม้และน้ำดื่มแล้ว ก็ทรงเล่าให้ชาวลั๊วะฟังถึงความเป็นมาแต่เดิม ในสมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโคอุศุภราช ณ สถานที่แห่งนี้ จนละสังขารลง ณ หนองวัวเฒ่า เมื่อทรงเล่าจบ พญาลั๊วะจึงทูลขอสิ่งสักการะบูชาเพื่อจะได้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์และผู้คนจะได้มากราบสักการะบูชาสถานที่แห่งนี้ เมื่อพระองค์ฉันเสร็จ จึงมีดำรัสให้พญาลั๊วะยกขันน้ำทองล้างพระหัตถ์ เมื่อน้ำที่พญาลั๊วะยกล้างพระหัตถ์ไหลผ่านพระหัตถ์ทั้งห้า ก็กลับกลายเป็นดวงแก้วห้าดวงปรากฎแสงส่องสว่างไปทั่ว ดวงแก้วทั้งห้าก็คือ "พระเมโตธาตุ" หรือ "น้ำไคลมือ" ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงประทานให้กับพญาลั๊วะไว้ เพื่อเป็นเครื่องสักการะและเพื่อระลึกถึงพระองค์  ดวงแก้วทั้งห้าลอยให้เห็นเป็นอัศจรรย์ พระอินทร์จึงเนรมิตโกฏิทองคำมารองรับและนำไปฝังไว้ในดินลึก ๖๐ ศอก แต่งยนต์ฟันไว้ทั้ง ๔ ทิศ (คำว่า "ยนต์ฟัน" พระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านบอกว่า หมายถึง ค่ายกลที่ทำขึ้นเพื่อรักษา
พระธาตุ) พญาลั๊วะจึงได้นำเอาดินและก้อนหินก่อเป็นกองสูงขึ้น เพื่อให้รู้ว่ามีของวิเศษฝังอยู่ ณ ที่แห่งนี้และนำเอาดอกไม้มากราบไหว้สักการะบูชาอยู่เป็นนิจและพระองค์ได้ทรงกล่าวทำนายไว้ว่า ต่อไปภายหน้าลูกศิษย์แห่งพระองค์ จะเป็นผู้มาบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองในภายหน้าจวบจนลุเข้าถึงสมัย พระนางเจ้าจามเวที เป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย ได้รับข่าวลือจากราษฎรเมืองลี้ว่า มีดวงแก้วห้าดวงปรากฎลอยให้ราษฎรได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง และเมื่อมาถึงยังดอยอุศุภราชแล้ว เวลากลางคืนท่านจึงได้เห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้งห้าดวง ปรากฎลอยอยู่ขนกองดินที่ชาวลั๊วะได้ทำไว้ พอรุ่งเช้าจึงได้เสด็จไปตรวจดูด้วยองค์เอง เมื่อไปถึงสถานที่ที่เห็นดวงแก้วปรากฎก็พบกองดินทั้ง ๕ กอง เมื่อทรงทราบแล้ว ท่านก็เกิดศรัทธาจึงสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง ๕ กองไว้ เพื่อให้ราษฎรทราบว่ามีพระเมโตธาตุอยู่ ณ ดอยอุศุภราชแห่งนี้ และจะได้มาสักการะบูชาพระเมโตธาตุอยู่ ณ ที่นี้ด้วย เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ทำการสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เมื่อทำการสมโภชเสร็จแล้วท่านด็เสด็จกลับเมืองหริภุญชัย เมื่อถึงเวลาประเพณีสรงน้ำพระธาตึทั้ง ๕ องค์ พระนางจามเวทีท่านจะเสด็จมาสรงน้ำองค์พระธาตุทุกปีและได้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา ณ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้ด้วย (เมื่อท่านแม่เจ้าจามเวทีได้สร้างพระธาตุเจดีย์เสร็จ หลังจากนั้นมาไม่นานท่านก็ได้สร้างพระวิหาร ณ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้ด้วย)
     กาลเวลาผ่านพ้นไป พระธาตุทั้งห้าองค์ก็ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา เพราะขาดผู้ดูแลรักษา จนถึงสมัยต่อมาระหว่างปีพ.ศ.๕๐๐ - ๗๐๐ ราษฎรในแคว้นโยนกถูกจีนฮ่อแห่งแคว้นยูนนานกดขี่ข่มเหง พระนางจามรีเทวี ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง ถูกพวกฮ่อตีเมืองแตก ล่าถอยกลับมาหลบภัยตั้งบ้านเมืองใหม่ โดยเสี่ยงสัจจะอธิษฐานให้ช้าง "พลายสุวรรณหัตถี" นำทางมาหาที่ตั้งเมืองใหม่ พญาช้างพาพระนางจากเมืองฝางสู่ "จัมปิระนคร"(เชียงใหม่)ไปทางอำเภอจอมทองล่องไปทางดอยหล่อ ข้ามแม่น้ำลี้มาทางอำเภอทุ่งหัวช้างจนถึงดอยอุศุภราช พญาช้างก็ได้พาพระนางจามรีมายังสถานที่ซึ่งมีก้อนหินใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง (ไม่ทราบได้ว่า ก้อนหินนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุดวงเดียว ) พญาช้างได้ทำกิริยาอาการกับก้อนหินใหญ่นี้ ๕ อย่างคือ
๑. คู้แข้งทำท่าไหว้
๒.ชูงวงเสมือนโปรยข้าวตอก
๓.แผดเสียงสีหนาท ประหนึ่งแสดงความยินดี
๔.ก้มหัวน้อมลงดินแสดงอาหารสักการะ
๕.ลุกขึ้นเดินไปโดยรอบก้อนหินนี้ ๓ รอบ เสมือนเป็นการประทักษิณ
เมื่อพญาช้างได้แสดงกิริยาอาการทั้ง ๕ อย่างเพื่อเป็นการสักการะแล้ว พญาช้างจึงได้เดินไปรอบๆบริเวณสถานที่นั้นพระนางจามรีเทวี จึงให้บรรดาเสนาอำมาตย์รวมทั้งข้าราชบริพารตามพญาช้างไป เพื่อกำหนดเขตการสร้างบ้านเมืองเมื่อพญาช้างเดินไปเพื่อกำหนดเขตการสร้างบ้านเมืองแล้ว พญาช้างก็ได้แผดเสียงสีหนาทก้องขึ้นและวิ่งเตลิดมาทางพระเจดีย์ทั้ง ๕ องค์ และมาขาดใจตาย ณ บริเวณด้านข้างพระวิหารวัดพระธาตุห้าดวงด้านทิศใต้ปัจจุบัน เมื่อพญาช้างเสียชีวิตลง พระนางจามรีก็เศร้าเสียใจ จึงได้ทำพิธีปลงศพพญาช้าง เมื่อเสร็จแล้วพระนางจึงได้เริ่มก่อสร้างบ้านเมืองณ บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียวปัจจุบัน พระนางได้ให้บริวารแผ้วถางบริเวณที่ได้กำหนดไว้ให้สะอาดและขุดดินทำคูถึง ๓ ชั้น เอาไม้ไผ่มาปลูกเป็นรั้ว กั้นเขตด้วยเขื่อนดิน ทำคันขังน้ำไว้เป็นสระใหญ่(ปัจจุบันยังคงสภาพให้เห็นอยู่บ้าง)ด้านใต้ทำสระยาวลงไปถึงห้วยแม่แต๊ะ ทำประตูไว้สองประตู ประตูเหนือตรงทางข้ามเขื่อนสบห้วยเวียง ประตูด้านทิศใต้ตรงข้ามคูเมืองและทำป้อมยามรักษาเวียงไว้ด้วย ขณะที่พระนางได้ทำการสร้างบ้านเมือง พระนางได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบหินก้อนใหญ่ พร้อมกับสร้างวิหารไว้ในเวียงวังของพระนาง ("วัดพระธาตุดวงเดียว" จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วัดพระธาตุกลางเวียง") และบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุห้าดวง เพราะฉะนั้นเมืองลี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวียงเจดีย์ห้าหลัง" บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่สมัยพระนางจามรี มาจนถึงสมัย เจ้านิ้วมืองาม ครอบครองปรากฎว่าเวียงเจดีย์ ๕ หลัง เจริญรุ่งโรจน์เป็นยิ่งนัก
จนมีกิตติศัพท์ลือเลื่องไปทั่วสารทิศและกิตติศัพท์ได้เป็นที่ร่ำลือไปเข้าพระกรรณของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ปรากฎว่าต่อมาพระเจ้ากรุงสุโขทัยได้ยกกองทัพมาประชิดติดเวียงเจดีย์ ๕ หลังถึงสามครั้ง แต่สองครั้งไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถจะเข้าป่าไม้ไผ่ซึ่งเป็นรั้วเวียงเจดีย์ไปได้ ในครั้งที่สามจึงได้ใช้กุศโลบาย โดยใช้เงินเป็นลูกอาวุธยิงเข้าป่าไม้ไผ่ จนเป็นที่พอใจแล้วก็ถอยทัพล่ากลับไป พอกองทัพสุโขทัยล่าถอยกลับไปแล้ว ราษฎรแห่งเวียงเจดีย์ ๕ หลังก็ออกตรวจดูสถานที่ที่กองทัพสุโขทัยยิงก็ปรากฎว่าเก็บได้แท่งเงินหลายแท่ง จึงชวนกันแสวงหาต่อไป จนกระทั่งเห็นแท่งเงินอยู่ในป่าไผ่มากมาย จึงพากันฟันไม้ไผ่เพื่อเอาแท่งเงิน พอไม้ไผ่อันเป็นรั้วของเวียงถูกฟันและแห้งดีแล้ว จารบุรุษแห่งสุโขทัยก็ส่งข่าวให้กองทัพสุโขทัยทราบ กองทัพสุโขทัยก็ยกมาล้อมเวียงเจดีย์ ๕ หลัง แม่ทัพนายกองและทหารแห่งกรุงสุโขทัยก็ระดมยิงเวียงเจดีย์ ๕ หลังและให้เผาไม้ไผ่อย่างไร้ความเมตตาปราณี บ้านเรือนราษฎรถูกไฟไหม้วอดวายไปตามๆกันและข้าศึกได้ยิงเจ้านิ้วมืองามถูกที่นิ้วมือและแห่งอื่นจนถึงแก่พิราลัย เมื่อบ้านเมืองถูกเผา เจ้าผู้ครองผู้เป็นหัวหน้าถูกยิงถึงแก่พิราลัย เวียงเจดีย์ ๕ หลังก็ระส่ำระสาย ตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ราษฎรทั้งหลายก็ถูกกวาดต้อนไปสู่สุโขทัย เวียงเจดีย์ ๕ หลังก็อยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่าอีกวาระหนึ่ง
         พอถึงสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้อาราธนาพระมหารัตนรังสี แห่งสำนักวัดสวนดอกเชียงใหม่ มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุห้าดวง ลุถึงสมัย พระเมืองแก้ว
ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้สร้างบูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเมืองที่ล้มละลายหายสูญ ตลอดถึงเมืองลี้หรือเวียงเจดีย์ห้าหลัง ให้กลับฟื้นคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่สุดอีกสาระหนึ่ง เมืองลี้หรือเวียงเจดีย์ห้าหลังในรัชกาลดังกล่าวร่มเย็นเป็นสุขเกษมยิ่งนัก วัดวาศาสนาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์วัฒนาถาวรเป็นอย่างยิ่ง และได้จัดให้มีประเพณีสรงน้ำ พระธาตุเวียงเจดีย์ห้าหลัง (พระธาตุห้าดวง) ในวันเดือน ๘ เหนือขึ้น ๗ ค่ำ เป็นประจำทุกปี(ปัจจุบันกำหนดเอาวันที่ ๒๐ เมษายนของทุกปี เป็นวันประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง)

ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๒ - ๒๒๗๕ บ้านเมืองต่างๆในแคว้นล้านนาไทย เกิดจราจลวุ่นวายขึ้น หัวเมืองต่างๆ
ในลานนา เช่น เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ได้รวมกันเป็น
กลุ่มก้อนเช่นกาลก่อน ต่อมาจึงได้ตกอยู่ในแอกอำนาจของพม่าเกือบหมดสิ้น เมื่อคราวที่พม่าครองลานนาไทย
พม่าได้กระทำทารุณกรรมต่อชาวเมืองเป็นยิ่งนัก ไม่ให้สิทธิเสรีในการทำบุญเลย วัดวาศาสนาจึงเสื่อมลงอีก
วาระหนึ่ง เพราะศรัทธาสาธุชนไม่มีเสรีภาพและหมดโอกาสได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์

ต่อมา อ้ายทิพช้าง ได้ทำการกู้อิสรภาพจากพม่าคืนมาได้ จึงได้ทำการกวาดล้างพม่า ให้ออกไปจากผืนแผ่นดิน
ลานนาไทยจนหมดสิ้น อิสรภาพ เสรีภาพและสันติสุขก้กลับคืนมาสู่ลานนาไทยอีกวาระหนึ่ง เมื่ออ้ายทิพช้างกำจัด
ศัตรูหรือเสี้ยนหนามของแผ่นดินจนราบคาบแล้ว คนทั้งปวงก็เห็นว่าอ้ายทิพช้างมีความกล้าหาญชาญชัย สามารถ
ขับไล่พวกข้าศึกษาให้ออกจากลานนาไทยได้ต่างก็พร้อมใจกันอัญเชิญทิพช้างให้เป็นผู้ปกครองลานนาไทย คราว
นั้นบ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข อ้ายทิพช้างก็ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองเช่นกาลก่อน และ
ได้มาบูรณะเมืองลำพูนด้วย

ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๔ - ๒๓๖๘ เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เป็นผู้ครองนครลำพูน ท่านได้ทำการบูรณะเมือง
ลำพูนเป็นอย่างดี ตามข้อความในพงศาวดารลี้ ฉบับพื้นเมืองอักษรลานนาจารึกลงใบลานว่า "เจ้าหลวงเศรษฐี
คำฝั้น" ได้นำบริวารมาปรับปรุงเมืองลำพูนไปตามสายแม่น้ำลี้ ไปตลอดจนถึงเมืองลี้ มิได้เข้าไปในเวียง คงตั้ง
อยู่ที่เชิงเขาพระธาตุ ๕ ยอดนั่นเอง แล้วก็ทำการซ่อมแซมองค์พระธา่ตุจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

หลังจากนั้นก็ได้มีพระครูบา ๖ รูป ได้มาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาและดูแลรักษารวมถึงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุห้าดวง แต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาและพ.ศ.ของพระครูบาแต่ละรูปได้ พระครูบาทั้ง ๖ รูป มีรายนามดังนี้

๑. ครูบากิตติ
๒. ครูบามหาสมณะ
๓. ครูบามหามังคลาจารย์
๔. ครูบามหาสวามี
๕. ครูบามหาเตจา
๖. ครูบาจะวรรณะ ปัญญา

ครูบาทั้ง ๖ นี้ หลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านได้สร้างพระรูปเหมือนทั้ง ๖ ครูบา ประดิษฐานไว้ในวิหารเก้าครูบา
ซึ่งอยู่ภายในวัดพระธาตุห้าดวงด้วย ที่ท่านเรียกว่าวิหาร ๙ ครูบา เพราะยังมีพระครูบาอีก ๓ รูป ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
อันมี

๗. ครูบาศรีวิชัย
๘. ครูบาอภิชัยขาวปี
๙. ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ซึ่งครูบาทั้ง ๓ รูปนี้ หลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านได้ปั้นพระรูปเหมือนประดิษฐานไว้ในวิหาร ๙ ครูบาด้วย ในวิหารจึงมีพระรูปเหมือนครูบาทั้งหมด ๙ รูป ท่านจึงเรียกวิหารนี้ว่า "วิหารเก้าครูบา"

จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๖๘ พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะพระธาตุทั้ง ๕ องค์จนสำเร็จ แล้วได้ทำการฉลองสมโภชองค์พระธาตุ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ท่านพระครูบาศรีวิชัยจึงได้เดินทางกลับวัดบ้านปาง ต่อมา พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านพระครูบาศรีวิชัยได้เดินทางมาบูรณะพระธาตุดวงเดียว ซึ่งสมัยนั้นสภาพของวัดพระธาตุดวงเดียวเป็นป่าใหญ่ ซึ่งพระครูบาศรีวิชัยและลูกศิษย์ไม่สามารถตัดต้นไม้ใหญ่ได้เพราะมีผีดุ พระครูบาศรีวิชัยจึงได้เรียกครูบาอภิชัยขาวปีมาปราบผีเพื่อที่จะได้ทำการตัดต้นไม้เพื่อบูรณะพระธาตุดวงเดียวและยังได้ทำการบูรณะพระวิหารด้วยแต่ไม่สำเร็จ เมื่อทำการบูรณะพระธาตุดวงเดียวเสร็จ จึงได้ทำการฉลองและยกฉัตรองค์พระธาตุ โดยใช้เวลาสร้างองค์พระธาตุและฉลองรวมเวลา ๑๕ วัน (ขณะยกยอดฉัตร หลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านได้เมตตาบอกว่า ท่านได้มาร่วมยกยอดฉัตรและฉลองพระธาตุด้วย) เมื่อทำการฉลองพระธาตุเสร็จ ท่านพระครูบาศรีวิชัยก็เดินทางไปรับทานกูฏิที่วัดพระบาทตะเมาะต่อ วัดพระธาตุห้าดวงและวัดพระธาตุดวงเดียวก็ร้างอีก

   ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๑ นายสนิท จิตวงศ์พันธ์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอลี้ มีใจศรัทธาที่จะบูรณะวัดพระธาตุห้าดวง
จึงได้นำศรัทธาประชาชนมาช่วยแผ้วถางและได้นิมนต์หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและครูบาขาวปี มาทำการบูรณะวัดพระธาตุห้าดวงอีกครั้ง จนถึง พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ท่านจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดพระธาตุห้าดวง ๑ พรรษา โดยท่านเดินทางจากวัดห้วยน้ำอุ่น อำเภอดอยเต่า และครูบาขาวปีท่านได้มาจำพรรษา ณ วัดพระธาตุดวงเดียว ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาจึงได้เดินทางไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และอยู่จำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มจนถึงปัจจุบัน ส่วนครูบาขาวปีได้ไปวัดพระบาทผาหนาม และได้อยู่จำพรรษา ที่วัดพระบาทผาหนามจนมรณภาพ วัดพระธาตุห้าดวงก็ขาดพระภิกษุที่จะมาดูแลและทำการบูรณะ ทำให้วัดพระธาตุห้าดวงจำต้องร้างอีกวาระหนึ่ง

ต่อมาได้มีพระอธิการนุช ธมมวโร ได้มาประจำอยู่ ณ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้ ทางคณะสงฆ์จึงได้พิจารณาได้ทำการขออนุญาตยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศยกฐานะวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยเวียง"

ปัจจุบันวัดพระธาตุห้าดวง ซึ่งแต่ก่อนมีสภาพที่เสื่อมโทรม เนื่องจากขาดการดุแล ขาดผู้ที่มีศรัทธามาช่วยทนุ
บำรุงอุปถัมภ์ บัดนี้ วัดพระธาตุห้าดวงได้รับการบูรณะและเริ่มทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ทำให้สภาพของวัด
ได้กลับฟื้นคืนมาเป็นสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ดั่งที่ท่านทั้งหลายได้เห็นประจักษ์แก่สายตาของท่านเวลานี้
ก็ด้วยความเมตตาปราณีอย่างหาที่สุดประมาณมิได้จากพระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาที่ท่านได้เมตตาดูแลอุปถัมภ์ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้พร้อมไปด้วยคณะศิษย์ของท่านและคณะศิษย์ของพระเดช
พระคุณหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุงที่ได้ดำเนินรอยตามพระเดชพระคุณทั้งสองที่พระคุณท่านได้อุทิศชีวิตและร่างกายของท่านเพื่อพระพุทธศาสนาและเพื่อความสุขของบรรดาลูกหลานทุกคน ที่มีความต้องการที่จะพ้นทุกข์และประสบความสุขที่แท้จริง

"วัดพระธาตุห้าดวง" หรือ "เวียงเจดีย์ห้าหลัง" ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะองค์พระเจดีย์เป็นสัญญลักษณ์ที่สำคัญ จึงสมควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันเทิดทูนและทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเพื่อประกาศความดีของรัตนะทั้งสาม ดังเช่นบรรพบุรุษของเราได้กระทำมาแล้วในอดีต จะได้เป็นสัญญลักษณ์สำคัญของประวัติศาสตร์แสดงให้ทราบว่าสถานที่นี้ได้เคยเป็นสถานที่ที่องค์พระประทีปแก้วได้เคยเสด็จมาส่องแสงจรัสจ้าเป็นประทีปส่องนำปัญญา ให้เราทั้งหลายได้เห็นอริยสัจ และบัดนี้เราท่านทั้งหลายได้มาช่วยกันทำให้ประทีปแก้วได้ส่องแสงเจิดจรัสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นประทีปส่องนำให้เราท่านทั้งหลาย ได้เข้าถึงที่ที่พระประทีปแก้วทั้งหลายได้ส่องแสงเจิดจรัสจ้าสว่างอยู่ และอยู่อย่างนี้ไม่มีวันเสื่อมคลาย