เมื่อปีพ.ศ.2560 – 2561 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้สำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พบร่องรอยถลุงเหล็กโบราณจำนวนมากกระจายตัวทั่วพื้นที่อำเภอลี้ จึงได้เก็บตัวอย่างหลักฐานจากแหล่งถลุงเหล็กโบราณสิบดร ไปศึกษาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS Dating พบว่ากิจกรรมการถลุงเหล็กดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 2,500 – 2,700 ปีมาแล้ว ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบรรพชนชาวลี้มีวิทยาการถลุงเหล็กไม่ต่ำว่า 2,500 ปีมาแล้วและสามารถผลิตเหล็กได้ในระดับอุตสาหกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนหรือส่งออกไปยังดินแดนภายนอก ดังนั้น พื้นที่ของอำเภอลี้จึงถือเป็นย่านอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของโลกยุคโบราณที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่มากที่สุดในดินแดนล้านนา เท่าที่มีการค้นพบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เทศบาลตำบลวังดิน ได้จัดกิจกรรมขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดลำพูน มาสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าครองสรีระองค์สามครูบา มีศรัทธาประชาชนมาร่วมทำบุญกันมากมาย
พระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 เจ้าคณะภาค 7 ได้ดำเนินทางมาถึงบริเวณมณฑลพิธี เป็นประธานในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นอกจากนี้มีดร.นิรันทร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นายอำเภออุดม จันตาใหม่ นายอำเภอลี้ นายสุรสิทธ์ ทองรวย นายกเทศมนตรีตำบลวังดิน พร้อมด้วยศรัทธาประชาชนในพื้นที่ต่างๆมาร่วมงานมากมาย เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ได้เดินทางไปประกอบพิธีสืบชะตาหลวงและสรงน้ำพระธาตุห้าดวง ตามลำดับ
ประเพณีการฟ้อนผีมดของเมืองลี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ ประเพณีฟ้อนผีมดทางภาคเหนือ ผู้ที่อยู่ในเชื้อสายเดียวกันจะไปร่วมชุมนุมที่บ้านของผู้ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ชาวบ้านจะนำสิ่งของมา "ฮอม" หรือมาร่วมกันทำบุญเจ้าภาพจึงไม่ต้องจ่ายมาก เป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปทำงานที่อื่นได้กลับมาพบปะกันปีละครั้ง เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ และเกิดความภูมิใจในชาติพันธุ์วงศ์ตระกูลเดียวกัน