ประวัติวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอลี้ ประมาณ 10 กิโลเมตร วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีรอยพระบาทซึ่งปัจจุบันนี้ได้สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ ตามตำนานเล่าว่า พระ-พุทธบาทแห่งนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในสมัยพระพุทธองค์เสด็จผ่านบริเวณแห่งนี้ ได้มีชาวลัวะ 2 คน มีศักดิ์เป็นพระยาชื่อ แก้วมาเมือง อีกคนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองเถิน พร้อมกับพรานหาเนื้ออีก 8 คน ได้นำเนื้อสดมาถวายเป็นภัตตาหารแด่ พระ -พุทธเจ้า แต่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสดเหล่านั้น พวกพรานเนื้อจึงได้จัดการต้มข้าวถวาย ซึ่งพระยาลัวะ 2 คน ก็ได้ร่วมถวายข้าวต้มนั้นด้วย เมื่อถวายและพระ -พุทธองค์ฉันเสร็จแล้ว ได้เทศนาธรรมให้แก่พรานเนื้อและพระยาลัวะฟัง ซึ่งนำความปิติและศรัทธาในพระพุทธองค์ จึงขอพระธาตุและรอยพระบาทไว้เพื่อสักการะ พระ -พุทธองค์ จึงประทับรอยพระบาทบนแผ่นหินไว้ให้ชาวลัวะและพรานเนื้อเหล่านั้น ได้สักการะบูชา และสถานที่แห่งนี้เรียกว่า “ห้วยต้มข้าว” ปัจจุบันเรียก "ห้วยต้ม"
ภายหลังจากที่ได้ตั้งเมืองลี้ ซึ่งอยู่ที่บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว (วัดเวียง) อยู่ทางด้านทิศเหนือพระธาตุ 5 ดวง (ปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นเมืองลี้ กำลังเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงได้เดินทางมาหาของป่า และพบรอยพระ -พุทธบาทแห่งนี้ จึงได้นำเรื่องราวไปแจ้งให้แก่เจ้าเมืองลี้สมัยนั้นทราบ และเจ้าเมืองลี้ได้ให้คนมาดู พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง จึงได้โปรดให้จัดสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ ภายหลังจากที่เมืองลี้ ได้ถูกทหารชาวเมืองสุโขทัยซึ่งเจ้าเมืองสุโขทัยต้องการรวบรวมอาณาจักรหัวเมืองน้อยใหญ่เข้าอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย และอพยพชาวเมืองลี้ไปอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย รอยพระบาทแห่งนี้ก็ขาดผู้คนดูแล -รักษา ถูกทอดทิ้งไปหลายร้อยปี
เมื่อได้มีการจัดตั้งเมืองลี้ขึ้นในบริเวณแห่งใหม่ (บริเวณบ้านลี้หลวง หมู่ที่ 6 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) ได้มีหญิงชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอีกคนหนึ่ง ชื่อ “ย่าแพร” เดินทางมาหาของป่า และพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อีก จึงได้นำเรื่องราวไปบอกกล่าวยังครูบากิตติ พระภิกษุชาวอินเดีย ซึ่งมาอยู่ที่วัดลี้หลวงให้ทราบ ครูบากิตติพร้อมด้วยลูก-ศิษย์ จึงได้จัดการแผ้วถาง และสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ผู้คนชาวเมืองลี้ได้ทำการเคารพสักการะตลอดมา จนครูบากิตติ มรณภาพสถานที่แห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งไปอีกครั้งหนึ่ง และศาสนาสถานแห่งนี้ได้ถูกลืมไปจากความทรงจำของคนเมืองลี้ในยุคนั้นไป
หลังจากถูกทอดทิ้งและถูกลืมไปจากความทรงจำของคนเมืองลี้ไปแล้วหลายสิบปี ต่อมาได้มี “ย่าตา” ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้เดินทางมาหาของป่าและพบเห็นรอยพระ -พุทธบาทนี้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้นำเรื่องราวไปแจ้งให้แก่ ครูบามหาอิน พระครูลี้ ซึ่งเมื่อท่านทราบเรื่องราวจึงได้ทำการค้นหาและตรวจสอบหลักฐานต่างๆ พร้อมด้วยครูบา -ใจ วัดสันโป่ง และลูกศิษย์ลูกหาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ได้ทราบว่ารอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าตามคำบอกกล่าวของย่าตาจริง ครูบามหาอิน ครูบาใจและคณะศิษย์จึงได้จัดการแผ้วถางบริเวณรอบหินที่ประทับรอยพระพุทธบาทจัดสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท
โดยมอบให้พ่อหนานเต๋จา บ้านนาเลี่ยงเป็นสล่า (นายช่าง) ทำการสร้างมณฑปกว้างประมาณ 7 ศอก หลังคามุงไม้เซาะ(ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง) สร้างกำแพงอิฐรอบมณฑป สร้างเจดีย์องค์เล็กๆ ฐานกว้างประมาณ 2 ศอก สูงประมาณ 3 ศอก ปลูกต้นโพธิ์ 1 ต้น สร้างหอพระไตรปิฏก 1 หลัง ขนาดกว้าง 6 ศอก สูง 6 ศอก สร้างศาลาอีก 1 หลัง ขนาดกว้าง 4 ศอก ยาว 12 ศอก ศาลาหลังนี้มุงด้วยไม้เซาะ เช่นเดียวกับมณฑป และจัดการปลูกต้นลาน ล้อมมณฑป 7 ต้น มะม่วง 4 ต้น และดอกจุ๋มป๋าลาว (ลั่นทม) 4 ต้น
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2489 สิ่งก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงในบริเวณวัดพระพุทธบาทแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป ครูบาผุย มหาชโย เจ้าคณะอำเภอลี้ ครูบาอินต๊ะ วัดพวงคำ ครูบาคำสุข วัดบ้านแวน หรือพระครูสุริยะสมานคุณ ได้ประชุมคณะศรัทธาทั้งหลาย และแจ้งว่ามณฑปครอบรอยพระ พุทธบาทห้วยต้มและสิ่งก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงได้ชำรุดทรุดโทรมไปมาก สมควรที่จะได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เสียใหม่ จึงได้ตกลงกันว่า สมควรนิมนต์ครูบา-ชัยยะวงศ์ษา และครูบาชัยยะวงศ์ษา ได้ตอบรับนิมนต์และได้เดินทางมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งเป็นวัดร้างตั้งแต่เดือน 10 เหนือ (เดือน 8 ใต้) ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา โดยได้มาทำการแผ้วถาง บริเวณรอบพระพุทธบาท คณะศรัทธาบ้านนาเลี่ยง ปั้นอิฐ 50,000 ก้อน คณะศรัทธาบ้านผาลาด เผาปูนขาว ได้ประมาณ 1,000,000.00 กิโลกรัม เมื่อได้จัดเตรียมสิ่งของเหล่านี้ไว้แล้ว ได้ไปนิมนต์ครูบาอภิชัยขาวปี วัดพระบาทตะเมาะ มาตรวจและวาง -แผนสร้างวิหาร เมื่อเดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ใต้) ขึ้น 13 ค่ำ ภายหลังจากครูบาอภิชัย-ขาวปี กลับไปพระบาทตะเมาะแล้ว ครูบาชัยยะวงศ์ษา ได้จัดทำแบบแปลนพระวิหาร ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือน 12 เหนือ (เดือน 10 ใต้) ขึ้น 1 ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ ที่ 15 กันยายน 2490 ปีกุล โดยพระชัยยะวงศ์ษาเริ่มลงมือก่ออิฐคนแรก และได้ทำการก่อสร้างพระวิหารหลังนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2531) การก่อสร้างพระวิหาร ยังดำเนินเรื่อยไปเนื่องจากยังไม่ได้ทำการตกแต่งภายในพระวิหารและถึงขณะนี้คาดว่าได้ใช้จ่ายเงินสำหรับการสร้างพระวิหารครอบรอยพระบาทแห่งนี้ไปแล้วประมาณ 2,548,115.00 บาท
นับตั้งแต่ครูบาชัยยะวงศ์ษาได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ ทำให้วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาตามลำดับ มีประชาชนถวายที่ดินซึ่งจับจองเป็นที่ทำไร่ สำหรับทำกิน โดยไม่มีเอกสารหลักฐานที่ดินให้แก่ทางวัด เพื่อใช้สำหรับขยายเขตวัดมาตั้งแต่ปีที่เริ่มลงมือบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้มา มีจำนวนที่ดินกว้างถึง 170 ไร่เศษ ซึ่งครูบาชัยยะวงศ์ษาก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับสร้างศาสนสถานทั้งที่เป็นเขตพุทธวาสและเขตสังฆวาส ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นศาสนสมบัติมากมาย กว่าร้อยอย่าง นับเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอลี้ ลำพูน
http://li-culture.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1:%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1&catid=10&Itemid=149#sigFreeId72aafa0213