เมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ คนไทยที่อยู่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าถูกศัตรูรุกราน จึงได้พากันอพยพหนีจากที่อยู่เดิมลงมาทางทิศใต้ ในครั้งนั้นได้มีคนไทยกลุ่มหนึ่งอพยพหนีภัยศึกมาจากทางแคว้นหลวงพระบาง ลงมาสู่แคว้นลานนา ในกลุ่มดังกล่าวมีพระนางจามะรีเป็นหัวหน้า มีท้าวพวงมหาด หรือปวงมหาด ซึ่งเป็น ผู้สนิทใกล้ชิดเป็นผู้นำทางโดยมีช้างเป็นพาหนะพาไพร่พลเมืองหนีภัย

ล่องลงมาเรื่อยๆ ตามแนวเมืองฝางปัจจุบัน เลียบเลาะมาตามแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) ถึงดอยแห่งหนึ่งในเขตจอมทอง ช้างทรงของพระนางจามะรี ได้ออกวิ่งจากดอยลงสู่แม่น้ำ เพื่อจะข้ามไปสู่ฟากข้างหน้า ดอยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "ดอยหล่อ" อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันนี้ ช้างทรงได้นำขบวนอพยพเข้าสู่เขตเมืองหริภุญไชยตอนใต้ เลียบไปตามป่าดงพงไพรไปทางทิศตะวันออก ช้างพาเดินลัดตัดตรงไปที่ดอยแห่งหนึ่งและพาเลาะรอบใกล้เชิงดอยนั้น ต่อมาดอยนั้นเรียกชื่อว่า ดอย "แม่รอบ" หรือ "แม่ลอบ" แล้วพาเดินมุ่งหน้าไปทางทิศใต้สู่ขุนลำน้ำลี้ (ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ได้มีชื่อว่าน้ำลี้) ซึ่งเทือกเขายาวติดต่อกันสลับซับซ้อนผู้คนพลเมืองที่เดินติดตามมาต่างก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนต้องหายใจออกทางปากและเปล่งเสียง "หุย หุย" "ฮุ่ย ฮุ่ย" ตลอดทาง ต่อมาภายหลังที่นั้นได้ชื่อเรียกว่า "ดอยอีฮุ่ย" ขบวนได้เดินทางต่อมาอีกระยะหนึ่งก็ได้มีการหยุดพักไพร่พล และได้ทำการซ่อมแซมเครื่องทรงที่ชำรุดเสียหายจากการเดินทางมาไกล ณ ที่หยุดพักซ่อมแซมเครื่องทรงนี้ต่อมาได้เรียกชื่อว่า "แม่แซม" หรือ "แม่แสม" หลังจากที่ได้หยุดพักและทำการซ่อมแซมเครื่องทรงช้างแล้ว ก็เดินทางต่อมาอีกครึ่งวันก็ได้หยุดพักช้าง และพักพลท้าวปวงมหาดได้พยายามบังคับช้างให้หมอบลง เพื่อจะได้ปลง (ปลด) เครื่องช้าง แต่ช้างไม่ยอมหมอบ ท้าวปวงมหาดได้ให้ควาญช้างบังคับช้าง โดยใช้ขอเหล็กกระทุ้ง (ต๊ง) หัวช้างเพื่อให้ช้างหมอบได้พยายามอยู่เป็นเวลานาน ช้างจึงยอมหมอบลง และก็ได้มีการพักไพร่พล ณ ที่แห่งนั้นต่อมาได้ชื่อว่า "ต๊งหัวจ๊าง" คือทุ่งหัวช้างหรือ อำเภอทุ่งหัวช้าง ในปัจจุบัน หลังจากพักไพร่พลแล้ว ก็ได้เดินทางต่อมาทางทิศใต้ พอมาถึงใกล้ลำห้วยแห่งหนึ่ง ช้างทรงได้ตกใจออกวิ่งจนกระเดง (กระดึง) ที่ผูกคอช้างหลุดออกจากคอช้าง ภายหลัง ณ ที่นั้นได้ชื่อว่า "แม่ปันเดง"

เมื่อเดินทางต่อมาอีกระยะหนึ่ง จึงหยุดพักแรมอีกขณะที่หยุดพักแรมอยู่นั้น ท้าวปวงมหาดได้ออกแอ่วล่าสัตว์ แล้วถูกอสรพิษกัดถึงแก่ความตายพระนางจามะรีจึงให้ปลงศพท้าวปวงมหาด ณ ที่นั้น ซึ่งภายหลังต่อมาที่นั้น ได้ชื่อว่า "บ้านปวง" และ ที่ปลงศพก็คือที่ตั้งวัดแอ่ว หรือ "วัดแอ้ว" ในปัจจุบัน

เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับหัวหน้าผู้นำทางเช่นนั้น พระนางจามะรีก็ไม่สามารถจะตัดสินใจทำประการใด จึงได้ทำการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพาอารักษ์ ขอให้นำช้างทรงไปสู่สถานที่ที่สมควรแก่ลูกหนึ่ง ช้างทรงได้หันกลับคืนหลัง แต่แล้วช้างก็หันกลับเดินทางต่อมาอีก ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่า "ดอยคืน" การเดินทางขึ้นดอยลงห้วย ด้วยความเหน็ดเหนื่อยช้างได้หยุดเดินแล้วตะแคงสีข้างหยุดอยู่กับฝั่งลำห้วยแห่งหนึ่ง ณ ที่นั้นต่อมาได้ชื่อว่า "ตาแคง" หรือ "นาแคง" ในปัจจุบัน เมื่อเห็นความเหน็ดเหนื่อยของช้างและไพร่พล

พระนางจามะรีจึงให้หยุดพักและให้ไพร่พลนำเอาก้อนหินมาวางซ้อนกันข้างก้อนหินก้อนใหญ่ที่ตั้งอยู่ เพื่อทำเป็นแท่นบูชาได้จัดเครื่องบวงสรวงอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สอง ณ ที่นั้นยังปรากฏก้อนหินตั้งอยู่และได้ชื่อว่า "ผายอง" (อยู่ห่างจากบ้านนากลางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เสร็จแล้วก็ได้ออกเดินทางต่อ ช้างได้นำเดินทางมาอีกระยะหนึ่งถึงลำน้ำแม่ลี้ ได้เกิดอาเพศโพงป่าหลอก (คือ ภูต หรือ ผีป่า) ทำให้ช้างสะดุ้งตกใจ ที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "โพงหลอก" หรือ “โป่งหลอก" ในปัจจุบัน เมื่อช้างตกใจได้พาหก (วิ่ง) ย้อนไปทางทิศใต้อีก ณ ที่นั้นต่อมาภายหลังได้ชื่อว่า "ปาหก" หรือ "ป่าหก" ขณะที่วิ่งช้างวิ่งไปเรื่อยๆ นั้นทำให้เครื่องประดับช้างบางส่วนที่ทำด้วยทองคำเป็นพวงหลุดหล่นตกลงมาต่อมาที่นั้นได้เรียกว่า “พวงคำ" หรือ "ปวงคำ" ช้างได้ไปหยุดยืนอยู่ที่สบน้ำลำห้วยแห่งหนึ่ง ไพร่พลได้ตามไปทัน ช้างก็ได้หันกลับไปทางทิศเหนืออีก แล้วเดินลัดเลาะไปตามป่าและเชิงดอย ช้างเดินไปตามลำห้วยแคบๆ ไพร่พลก็เดินตามกันไปเป็นสาย ห้วยนั้นจึงได้ชื่อว่า "ห้วยสาย" ช้างได้เดินล่องไปตามลำห้วยจนถึงสบห้วยที่ต่อกับลำน้ำลี้ที่ตรงนั้นได้ชื่อว่า “ฮ่อมต่อ" หรือ "ฮ่อมต้อ" ช้างได้หยุดอยู่ ไพร่พลทั้งหลายก็ได้หยุดพักรวมกันอีกครั้งหนึ่ง

พระนางจามะรีจึงได้ทำพิธีบวงสรวงอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สาม โดยขอให้เทพาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ช่วยเหลือให้ได้สร้างบ้านแปงเมือง โดยมีคำอธิษฐานว่า "กันว่าได้สร้างบ้านแปงเมืองด้วยเถิด” ได้หลีกลี้หนีภัยแต๊ๆ ขอเทพาอารักษ์ได้โปรดนำช้างไปสู่ ณ ที่ที่จะสร้างบ้านแปงเมืองด้วยเถิด เสร็จพิธีแล้วช้างก็ออกเดินต่อ

นำขบวนที่ติดตามเลียบเลาะลำน้ำลี้ขึ้นไปทางทิศใต้ แล้วแยกขึ้นไปตามลำน้ำอีกสายหนึ่ง ณ ที่ลำน้ำมาบรรจบกันสามสายนั้นต่อมามีชื่อเรียกว่า "แม่ลี้" "แม่แต๊ะ" และ "แม่ไป" ช้างได้นำเดินขึ้นไปตามลำน้ำแม่แต๊ะ ได้อีกระยะหนึ่งก็เดินตัดขึ้นฝั่งน้ำแม่แต๊ะทางด้านตะวันตกขึ้นไปบนเนินสูง จนถึงบริเวณแห่งหนึ่ง ช้างก็ได้หยุดเดินและทำกิริยาห้าประการ ดังนี้

๑. คู้เข่า หรือหมอบลง

๒. ชูงวงขึ้น ทำลักษณะคล้ายประนมไหว้และโปรดดอกไม้

๓. ส่งเสียงโกญจนาทดังลั่นสั่นสะเทือนทั้งพื้นดินและแผ่นฟ้า

๔. ใช้งาทั้งคู่ปักลงดินเป็นนิมิตหมาย

๕. ลุกขึ้นทำท่าคึกคักขึงขัง เดินรอบปริมณฑลลักษณะทักษิณาวรรตสามรอบ พอสิ้นสุดกิริยาทั้งห้าแล้ว ช้างได้หยุดเดินหมอบลงนอนหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชูงวงชี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับสิ้นใจ (ตาย) ลงในบันดล

ด้วยเหตุเกิดดังนี้ พระนางจามะรีก็ได้ให้ปลดเครื่องช้างออก ให้ไพร่พลหยุดพักอาศัยเป็นการถาวร เมื่อได้หยุดพักอาศัยเป็นเวลาสมควรแล้ว พระนางจามะรีจึงได้พิจารณาบริเวณสถานที่นั้น ปรากฏว่าเป็นพื้นที่อยู่บนที่สูง มีลำน้ำไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกสายหนึ่ง (คือ ลำน้ำแม่แต๊ะ) ทางด้านทิศตะวันตกก็มีลำน้ำไหลผ่านอีกสายหนึ่งอ้อมไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับลำน้ำแม่แต๊ะ ส่วนทางทิศใต้เป็นแนวป่าไกลออกไปกว้างใหญ่ เมื่อได้พิจารณาทำเลเป็นที่รอบคอบแล้ว พระนางจามะรีได้สั่งให้ไพร่พลทำการแผ้วถางพื้นที่ทั้งในและนอกบริเวณที่ช้างได้เดินเป็นทักษิณาวรรต พร้อมกับป่าวประกาศให้ไพร่พลทราบทั่วกันว่า ได้กำหนดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ณ ที่นี้ เมื่อไพร่พลได้ทำการแผ้งถางและทำที่อยู่อาศัยเป็นการถาวรขึ้นแล้วต่อจากนั้นก็ได้ร่วมกันปรับพื้นที่บริเวณที่จะสร้างเมืองขึ้น โดยทำการขุดคูคลองทางเดินทิศใต้ตั้งแต่แนวฝั่งลำน้ำแม่แต๊ะ ตัดไปทางทิศตะวันตกจดลำห้วยเวียง ส่วนทางทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือ และด้านทิศตะวันตกมีลำน้ำห้วยเวียงและลำน้ำแม่แต๊ะเป็นลักษณะคูธรรมชาติอยู่แล้ว พระนางจามะรีได้ให้ทำฝายกั้นลำน้ำลำน้ำห้วยเวียงและลำน้ำแม่แต๊ะเป็นลักษณะคูธรรมชาติอยู่แล้ว พระนางจามะรีได้ให้ทำฝายกั้นน้ำลำน้ำห้วยเวียงและลำน้ำแม่แต๊ะ เพื่อให้เกิดน้ำขังเป็นลักษณะคูล้อมรอบเมืองที่สร้างขึ้น ทั้งยังเป็นการกักเก็บน้ำไว้ให้ไพร่พลเมืองได้ใช้อีกด้วย

ต่อจากนั้นได้มีการสร้างที่ประทับและสร้างบ้านเรือนสำหรับข้าราชการบริพารผู้ใกล้ชิดในตัวคูเมือง พร้อมกับสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งมีทั้งวิหารและเจดีย์ในเมือง ส่วนไพร่พลนอกนั้นก็ให้สร้างบ้านเรือนอยู่นอกเมืองทั้งสี่ด้าน บนคันคูเมืองด้านในได้ก่อกำแพงด้วยอิฐดินเผา มีป้อมปราการ และประตูเมืองตามแบบของการสร้างเมืองสมัยโบราณ นอกจากนี้ได้มีการปลูกกอไผ่เป็นแนวตามกำแพงเมืองอีกด้วย ประตูเมืองสร้างขึ้นมี ๓ ประตู คือ ประตูด้านทิศเหนือมีป้อมยามรักษาที่ใกล้กับป้อมยามนั้นมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อหนองน้ำนั้นว่า "หนองป้อม" ประตูที่สองอยู่ทางทิศใต้ ประตูที่สามอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งทางด้านตะวันออกนั้นพื้นที่จะลาดต่ำลงไปถึงลำน้ำแม่แต๊ะ ทางฟากตะวันออกของลำน้ำแม่แต๊ะ จะเป็นพื้นที่ราบต่ำ มีพื้นที่กว้างขวาง ให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของไพร่พลผู้คนที่ติดตามมา ทั้งยังได้มีการกำหนด และสร้างที่ที่ประชาชนพลเมืองจะได้มาใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นลักษณะตลาดขึ้นอีกด้วย ต่อมาภายหลังพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นที่ทำนา จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งกาด"

ในการสร้างบ้านเมืองขึ้นมานั้น พระนางจามะรีได้ก่อสร้างอาคารซึ่งมีทั้งปราสาทราชวัง ที่อยู่อาศัยสำหรับไพร่พลที่สำคัญดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ยังได้สร้างวัดไว้ที่นอกเวียงอีกคือ

๑. วัดพระเจดีย์ห้าองค์ ได้สร้างวิหารและเจดีย์มีลักษณะเป็นห้ายอดตามกิริยาทั้งห้าของช้างที่ได้แสดงให้ประจักษ์ (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุห้าดวง)

๒. วัดแท่นคำ สร้างขึ้นไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง (ปัจจุบันปรากฏซากฐานรากสิ่งก่อสร้างวัดที่ถูกถนนพหล-โยธินตัดผ่าน)

๓. สร้างวัดลี้หลวง (ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลลี้ อำเภอลี้)

๔. สร้างวัดโปงกาง หรือวัดโปงก้าง ทางทิศใต้ของวัดพระธาตุห้าดวง (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ยังไม่ได้รับการบูรณะหรือสร้างขึ้นมาใหม่)

นอกจากนี้ได้มีการขุดสร้างหนองน้ำขนาดใหญ่ที่กลางทุ่งนา ณ ที่หนองน้ำนี้มีชื่อเรียกภายหลังว่า "หนองเจนเมือง" เมืองและที่อยู่อาศัยที่พระนางจามะรีสร้างขึ้นนี้ มิได้สร้างเสร็จภายในเร็ววัน คงต้องใช้เวลานานพอสมควร เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ชื่อว่า "เมืองลี้" (ภาษาถิ่นว่า “เมืองลิ") คือตั้งนามเมืองตามเหตุและลักษณะที่ผู้หลบลี้หนีภัยมา สร้างขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยหลบลี้หนีภัยศัตรู

เมืองลี้ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดสมัยพระนางจามะรี สิ่งก่อสร้างต่างๆ แม้เมื่อเมืองลี้ร้างไปนานแล้ว ก็ยังปรากฏหลักฐานอันเป็นซากสิ่งก่อสร้างอยู่ ทั้งซากแนวกำแพงเมือง แนวคูเมืองซากวัดวาอารามซึ่งซากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีอิฐดินเผาก้อนขนาดใหญ่

พระแม่จามะรี ยังมีนามอีกนามหนึ่งที่ไพร่ฟ้าประชาชนเรียกว่า "เจ้าเจนเมือง" เมื่อสิ้นสมัยพระนางจามะรีแล้วก็ได้มีผู้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมื้องลี้ต่อมาอีกคือ

๑. เจ้าอุ่นเมือง (เป็นองค์ที่ ๒)

๒. เจ้าจองสูง (เป็นองค์ที่ ๓)

๓. เจ้าข้อมือเหล็ก (เป็นองค์ที่ ๔)

๔. เจ้าปูเหลือง (เป็นองค์ที่ ๕)

๕. เจ้านิ้วมืองาม (เป็นองค์ที่ ๖)

ในสมัยที่เจ้านิ้วมืองามเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองลี้อยู่นี้ ได้มีกองทัพสุโขทัยยกมาตระเวนดูกำลังไพร่พลและที่ตั้งของเมืองลี้ เพื่อจะโจมตีเอาเป็นเมืองอยู่ในเขตการปกครองของสุโขทัย ปรากฏว่าเห็นที่ตั้งเมืองเป็นที่แน่นหนา ไม่อาจสามารถโจมตีด้วยกำลังคนที่มาดูได้ เนื่องจากเมืองลี้มีป้อมปราการกำแพงเมือง คูเมือง ที่ล้อมรอบแน่นหนา นอกจากนี้ยังมีกอไผ่ที่ปลูกขึ้นโดยรอบเป็นแนวรอบเมืองอย่างหนาแน่นอีกด้วย หน่วยตระเวนสุโขทัยจึงได้ยกไพร่พลกลับสุโขทัย เพื่อวางแผนการโจมตีเมืองลี้ในโอกาสต่อมา แล้วอีกไม่นานกองทัพสุโขทัยก็ได้ยกมาตั้งอยู่นอกเมืองทำทีเหมือนจะยกพลเข้าโจมตีเมือง และได้ใช้ปืนยิงเข้าไปในตัวเมือง ลูกกระสุนปืนที่ใช้ยิงเข้าไปในเมืองและในกอไผ่ทั่วไปนั้น ส่วนหนึ่งทำด้วยเงินก้อน ฝ่ายสุโขทัยได้ระดมยิงลูกกระสุนเงินเข้าไปในเมืองและกอไผ่ทั่วทุกด้านแล้ว จึงได้ยกทัพกลับไปภายหลังจากที่กองทัพสุโขทัยกลับไปแล้ว ชาวเมืองเก็บได้ก้อนเงินที่ฝ่ายสุโขทัยทำเป็นลูกกระสุนยิงตกอยู่ทั่วไป ต่างพากันตื่นเต้นเที่ยวเก็บก้อนเงินเป็นการใหญ่ จนถึงกับตัดฟันต้นไม้ไผ่ เพื่อแผ้วถางเก็บเอากระสุนก้อนเงิน ทั้งที่ตกอยู่ในกอไผ่และฝังดินอยู่ตามลำไม้ไผ่ จนไม้ไผ่ถูกตัดฟันลงไปหมดโดยหาเฉลียวใจไม่ว่า ความอยากได้เช่นนั้น จะเป็นภัยร้ายแรงแก่บ้านเมืองและตัวเองอย่างไร เมื่อกองลาดตระเวนสุโขทัยยกมาอีกครั้งหนึ่ง หลังฤดูแล้งผ่านไป ฝ่ายสุโขทัยจึงได้ลอบเข้าเผาไม้ไผ่ที่ถูกตัดฟันทิ้งแห้งอยู่ ไฟก็ได้ลุกไหม้ทั้งไม้ไผ่และเผาบ้านเมืองจนวอดวาย นอกจากนี้ฝ่ายกำลังสูโขทัยยังใช้ปืนยิงเข้าใส่ผู้คนพลเมืองที่แตกกระสานซ่านเซ็นอีกด้วย เจ้านิ้วมืองามถูกกระสุนตามร่างกายและถูกนิ้วมือขาดถึงแก่พิราลัย

เมื่อทัพสุโขทัยตีเมืองได้สำเร็จก็ได้กวาดต้อนผู้คนและขนทรัพย์สินไปยังสุโขทัยเมืองลี้จึงได้กลายเป็นเมืองร้างไปตั้งแต่นั้นมา ส่วนผู้คนพลเมืองที่หลบหนีไม่ถูกกวาดต้นไปก็ต้องไปหาที่อยู่อาศัยตามที่ต่างๆ กระจัดกระจายจนไม่อาจที่จะรวมตัวกันทำประการใดๆ ได้

 

“ลี้สบทิน - เมืองโบราณที่ลี้"(หัวข้อใหญ่ จัดกลาง)

ลี้เป็นอำเภอที่อยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนถึง ๑๐๕ กิโลเมตร อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฉบับราชบัญฑิตยสถาน อธิบายว่า อำเภอลี้ เดิมเป็นแคว้นหนึ่งขึ้นตรงต่อ จังหวัดลำพูน มีหัวหน้าปกครองเรียกว่า "พญาลี้" มีผู้ช่วย ๒ คน เรียกว่า พ่อเมืองขวา และพ่อเมืองซ้าย เป็นผู้นำส่วยส่งพญาลี้ เป็นผู้นำส่วยส่งพญาลี้ พญาลี้นำส่งต่อ

(ตามหลักฐานวารสาร อ.ส.ท. ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๓๐ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ หน้า ๒๙ (ฉบับแนะนำลำพูน))

ได้กล่าวถึงเรื่องราวของอำเภอลี้

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ เขียนถึงเรื่องการขุดค้นเมืองโบราณที่ลี้ไว้ใน "หนังสือโบราณคดีสี่ภาค" ของกรมศิลปากร ซึ่งได้นำลงในวารสาร อ.ส.ท. ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๓๐ เดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ กล่าวว่า

เมืองโบราณที่ลี้ จังหวัดลำพูน แม้ว่าจะตั้งอยู่บนเนินเขาแต่ก็มีหลักฐานการอยู่อาศัยชัดเจน และมีลักษณะคู คันดิน ในระบบป้องกันศึกและการต่อสู้ข้าศึก คือมีป้อมปราการผลการสำรวจและอาศัยสภาพความสูงต่ำต่างระดับของเนินเขาและหุบลำธาร เป็นชัยภูมิ คันดินกำแพงเมืองอยู่ด้านใน ด้านทิศใต้ มีป้อม เหนือคันดินกำแพงเมืองก่อสร้างด้วยอิฐ และก้อนหิน ภายในเมืองมีโบราณสถาน ๒ แห่ง คือ เจดีย์และซากอาคารรูปสี่เหลี่ยม โบราณวัตถุที่พบในการขุดค้นส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาไม่เคลือบ เศษเครื่องล้านนาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัย และเครื่องถ้วยจีนสมัย ราชวงศ์หมิง"

ผลการขุดค้นชี้ให้เห็นว่าเมืองโบราณที่อำเภอลี้แห่งนี้ คือ เมืองลิ หรือ น้ำลิบ หรือ ลี้สบทิน ที่ปรากฏในเอกสารพงศาวดาร สมัยอยุธยา และมีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ ตลอดรัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา (พ.ศ. ๑๙๘๕ - ๒๐๓๐) และพระบรมไตรโลกนาถ แห่งพระนครศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)

ประวัติของอำเภอลี้ หรือเมืองลี้ ในส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ซึ่งมีหลักฐานขัดเจน เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จาก "ตำนานเมืองลี้" ที่ได้กล่าว เมืองลี้หรืออำเภอลี้ อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองลำพูน เดิมเป็นเมืองเก่ามีซากของตัวเมืองร้างและซากของสิ่งก่อสร้างหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอลี้ ปัจจุบันนี้ไปทางทิศใต้ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมืองลี้นี้พระนางจามะรีราชธิดาของเจ้าเมืององค์ใดองค์หนึ่ง ของแคว้นหลวงพระบาง ครั้งอาณาจักรน่านเจ้า ได้พาไพร่พลอพยพหนีภัยศึกมาตั้งเมืองลี้ขึ้น ราวก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ ดังปรากฏเรื่องราวในตำนานเมืองลี้ ภายหลังที่เมืองลี้ร้างไปแล้วนั้นยังมี ผู้คนอาศัยอยู่กระจัดกระจายห่างกันเป็นแห่งๆ สุดแท้แต่ว่าที่ใดจะเป็นทำเลเหมาะสมที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและเป็นที่ประกอบการทำมาหากินพอถึงสมัยพระเจ้าสามฝั่งแดน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้อาราธนาพระมหารัตนรังษี แห่งสำนักวัดสวนดอกเชียงใหม่ มาบูรณะวัดเจดีย์ ๕ ดวง ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้สร้างและบูรณะบ้านเมืองที่ล้มร้างไป รวมถึงเมืองลี้ด้วย ทำให้เมืองลี้รุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เมือง หมดสิ้นราชวงศ์เม็งราย อาณาจักรล้านนาตออยู่ในการปกครองของพม่ายาวนานถึง ๒๐๐ ปี เรื่องราวของเมืองลี้ก็ไม่มีมาก หลักฐานและเรื่องราวเมืองนัก ที่สามารถกล่าวถึงในประวัติศาสตร์มากตอน ซึ่งเกี่ยวกับการศึกษาระหว่าง ไทย -พม่า ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อสมัยกรุงธนบุรี และตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยกับพมามีการสู้รบติดพันต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานและหลายครั้ง ในบางครั้งนอกจากพม่าจะยกทัพมาตีเมืองหลวงของไทย แล้ว กองทัพพม่าส่วนหนึ่งจะโจมตีหัวเมืองสำคัญของไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือจะมีเมืองเชียงใหม่ และลำปาง เมื่อพม่ายกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และเมืองลำปางเมื่อใดผู้คนพลเมืองของไทยที่อยู่ตามแนวเส้นทางเดินทัพของพม่าหรือที่อยู่ใกล้เคียงเมืองที่พม่ายกทัพไปโจมตีก็จะได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบและการทำร้ายฆ่าฟันในการศึกแต่ละครั้ง ดังนั้น ผู้คนส่วนหนึ่งจึงได้พากันอพยพหลีกลี้หนีภัยไปในทิศทางต่างๆ เพื่อให้พ้นภัยและหาที่ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยเป็นการเอาชีวิตรอด ผู้อพยพหลบหนีส่วนหนึ่งจากลำปาง และเชียงใหม่ได้อพยพมาทางเมืองลี้ และก็ได้มาตั้งบ้านเรือนชั่วคราวอยู่อาศัยหลบภัยอยู่เป็นแห่งๆ แต่ละแห่งจะมีกลุ่มคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง การที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวนั้น ก็เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ของสงครามซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าภัยจากการสู้รบในที่ต่างๆ จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนและต้องพากันหลบหนีต่อไปทางไหนอีกเมื่อใด

เมื่อพื้นที่เมืองลี้เป็นที่มีผู้อพยพหลบภัยมาอยู่อาศัยและต่อมาเกิดความสงบสุข ไม่มีภัยร้ายเกิดขึ้นอีก ผู้คนพลเมืองก็รวมตัวกันสร้างที่อยู่อาศัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่ทำมาหากินเป็นการถาวรขึ้น ความเจริญและการขยายตัวทั้งจำนวนพลเมือง และที่อยู่อาศัยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

การเรียกชื่อเมืองลี้ตั้งแต่ครั้งพระแม่จามะรีมาตั้งเมืองขึ้นตามตำนาน หรือจะเรียกชื่อเมืองลี้ภายหลัง เมื่อผู้คนได้อพยพหลบลี้หนีภัยมาอยู่ในบริเวณนี้ ชื่อ "เมืองลี้" ก็มีปรากฏในเรื่องราวบันทึกเป็นหลักฐานในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชื่อเมือง "ลี้" ในแผนที่หรือเส้นทางเดินทัพของกองทัพไทย ที่ต้องผ่านขึ้นไปตีกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ในสงครามไทย - พม่า ครั้งที่ ๓ ฑ.ศ. ๒๓๓๐ พม่าได้ยกทัพมามีจำนวนพล ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน และมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้าน เป็นแผนการทำสงครามระยะยาว ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จขึ้นไปบัญชาการศึก ดังข้อความเป็นหลักฐานในหนังสือ “ประวัติศาสตร์กรุงรัตน์โกสินทร์ เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๒๕ งานสมโภชกรุงรัตน์โกสินทร์ ๒๐๐ ปี" หน้า ๗๔ ความว่า

“สมเด็จพระบวรราชเจ้า เสด็จไปในครั้งนั้นไปประชวรที่เมืองเถิน ไม่สามารถจะเสด็จต่อไปได้จึงมีรับสั่งกับทูตของพระยากาวิละให้กลับไปแจ้งว่า จะทรงแต่กองทัพไปช่วยเหลือให้ได้ พระยากาวิละไม่ต้องวิตก แล้วทรงจัดทัพออกเป็น ๒ ทัพ ให้ทำศึกแข่งขันกันระหว่างกองทัพวังหลวงและกองทัพวังหน้าดังเช่นครั้งก่อน ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กับพระยายมราชคุมทัพหลวงยก ไปทาง เมืองลี้ ให้กรมขุนสุนทรภูเบศร์ กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต คุมกองทัพวังหน้ายกไปทางเมืองลำปาง .." บันทึกหลักฐานดังกล่าว แสดงว่า ชื่อ “เมืองลี้" มีมาก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้วแน่นอน

เมืองลี้สมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นต่อเมืองลำพูน หรือหริภุญชัย เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนได้ตั้งผู้ปกครองเมืองลี้ เรียกว่า "พระยาลี้" พร้อมทั้งได้กำหนดบทบัญญัติเป็นลักษณะตัวบทกฏหมายให้เป็นเครื่องในการปกครองด้วย ดังตัวอย่างจารึกอักษรพื้นเมืองในสมุดข่อยฉบับหนึ่ง ความว่า" ทัฬหะ มังคละศุภะสาสะตินุสา ในพระวระราชกถาอะตุระปัญญา ปัญญะสัมภาระกัตตาธิการ ในพระวระองค์อัคคมหาบพิตรา พระวระองค์เจ้าเราเป็นเจ้าเหนือหัว พระองค์เป็นเจ้า ชัยยะลังกาพิส สโสภาคยคุณ พระวระองค์เป็นอิสระในรัฐนครในรัฐนครหริภุญชัยสุขาวดี ได้มีพระราชโอวาทอาชาญามาตั้งไว้กับ เมืองลี้ … ตั้งแต่ศักราช ๑๒๒๗ ตัวปีดับเป้า เดือน ๑๐ แรมค่ำนึ่ง วันอาทิตย์นี้ไปภายหน้า หื้อได้มีคำพร้อมกับด้วยกัน หื้อเป็นลำนำคำเดียว อย่าหื้อกูถกมึงถาก มักราชการเมืองเกิดมีมาก็หื้อได้เล็งหากัน ทังขุนทังนายทังผู้เฒ่าผู้หนุ่ม มักผู้ใดเป็นนายก็หื้อได้ช่วยกันว่าหากันคืด หื้อแล้วด้วยราชการ ตัวเป็นนายแล้วบ่ได้คึดกับบ้านกับเมืองนั้น ก็หื้อรับราชการเหมือนไพร่ออกด้วยการนั้นและ อันนึ่ง เซิ่งเป็นขุนเป็นนายทังมวล หื้อได้พร้อมมูลกันต่อสัพพะว่าการทังมวล อันควรเป็นของสมบัติก็ดี มักปรากฏเกิดมีในปักแคว้นในแขวงเมืองลี้ที่ไกลที่ใกล้ มีสัมสาดนองาเผิ้งผาชามิ้นดินไฟพริกยา ค่าหัวไร่หัวนา ค่าที่สัพพะอันใดก็ดีหื้อได้มีคำพร้อมกับด้วยกันทังขุนทังนาย ทังผู้เฒ่าผู้หนุ่ม หื้อปันกันรู้สู่กันฟัง อย่าหื้อกูถกมึงถาก อย่าลักกินก่อนซ่อนกินลุน....”

อีกฉบับหนึ่งจากจารึกอักษรพื้นเมืองในสมุดข่อย ความว่า

“จุลศักราชได้ ๑๒๔๐ ตัวปียี เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ วันผัด มีองค์เป็นเจ้าหอหน้าเป็นเค้าเจ้าราชวงศาธิราชลือไชยเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงครามอุตมะกุลวงศา ท้าวพระยาเสนาอามาตย์ ๑๒ ขุน พร้อมเหนือสนามชุตน เข้าไปพร้อมกันกลางโรงองค์เป็นเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ อรโคตรกิตติโสภณวิมลคุณ ตนเป็นเจ้าเมืองละพูน พร้อมกันตั้งดวงมาตรอาชญามาตั้งไว้กับขุนนายกรมการเมืองลี้ ทั้งมวล.....”

“…ข้อนึ่ง ว่าด้วยการในเมืองลี้ บ่หื้อมีหลายปักหลายแคว่น หื้อแล้วกับพระยาลี้ กับขุนไพร่ผู้ใดขัดหรือ พระยาลี้ เข้ามาไหว้สา จักหื้อมีผิดอาชญาตามกฎหมาย.....”

“พระยาลี้" มีตัวตนแน่นอนตามหลักฐานจารึกอักษรพื้นเมืองในสุดข่อยจะมีตั้งแต่เมื่อใดสันนิษฐานว่า “พระยาลี้องค์แรก" เริ่มเมื่อกรุงรัตน์โกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕) และอาจก่อนนี้ก็ได้ และพระยาลี้คงจะมีสืบต่อกันหลายองค์ แต่เรียกเหมือนกันว่า พระยาลี้ และสิ้นสุดองค์สุดท้ายที่ พระยาเขื่อนแก้ว เมื่อสมัยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเริ่มมีผู้ปกครองในตำแหน่ง "นายอำเภอ" แทนเจ้าเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ หรือศักราช ๑๒๔๐ ยังมีผู้ปกครองเป็นพระยาลี้อยู่ ตามหลักฐานจารึกอักษรพื้นเมืองสมุดข่อย)

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๕ เป็นต้นมา โดยยกเลิกจตุสดมภ์แล้วจัดตั้งกระทรวงทบวงกรมตามแนวใหม่ และจัดระบบการปกครองหัวเมืองใหม่ ด้วยการยกเลิกระบบกินเมือง และจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปประจำทำหน้าที่ตามหัวเมืองแทนเจ้าเมืองเก่า กำหนดเขตการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ในชั้นต้นเมืองลี้ได้ชื่อเรียกว่า "แขวงเมืองลี้" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "อำเภอลี้" โดยอยู่ในเขตการปกครองของเมืองลำพูน หรือจังหวัดลำพูน

อำภอลี้ปัจจุบัน การปกครองแบ่งออกเป็น ๘ ตำบล คือ ตำบลลี้ ตำบลศรีวิชัย ตำบลแม่ตืน ตำบลป่าไผ่ ตำบลดงดำ ตำบลนาทราย ตำบลแม่ลาน ตำบลก้อ และอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อเขตอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ทิศใต้ ติดต่อเขตอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อเขตอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน และอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง
ทิศตะวันตก ติดต่อเขตอำเภอดอยเต่า และแม่น้ำปิง เขตจังหวัดเชียงใหม่
สภาพทางภูมิศาสตร์ พื้นที่อำเภอลี้กว้างขวางเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัดลำพูน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่สูง ส่วนมากเป็นภูเขาต้นน้ำลำธารมากมาย ลำธารหรือลำห้วยเกือบทั้งหมดจะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำลี้ อีกส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำลี้จึงเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน ๓ อำเภอ คือ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ดังนั้นแม่น้ำลี้จึงเปรียบเหมือนเส้นโลหิตเส้นใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพื้นที่ ๓ อำเภอดังกล่าว สภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปอากาศจะเย็นสบายในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น

พันแปดร้อยพุทธกาลที่ล้านช้าง
หลวงพระบางเกิดมีภัยพิบัติ
จามรี นำรี้พล ผ่านดงชัฎ
หลบลี้ลัดสร้างเมืองลี้เพื่อหนีภัย

เป็นแดนดินถิ่นดีที่สงบ
แดนที่พบพระธาตุงามธารน้ำใส
มีดอยสูงช้อนสลับประทับใจ
ทอดยาวไกลล้อมเมืองอร่ามตา

เวียงเจดีย์คนมีธรรมสูงล้ำศักดิ์
เมืองภาพลักษณ์แหล่งคนดีที่ทรงค่า
เมืองกำหนดนักบุญแห่งล้านนา
ชัยวงศา ศรีวิชัย พระขาวปี

เมืองลิกไนท์
เมืองไม้งามน้ำตกสวย
ดาญดื่นด้วย ธรรมชาติอร่ามสี
ชนรุ่งเรืองเมืองคนงามน้ำใจดี
ถิ่นแดนนี้ คือ ลี้ สวรรค์เวียงวิไล

ประพันธ์โดย..วีระวงศ์ สุวรรณพินธุ์

 

ดูรูปภาพ ประวัติเมืองลี้ (ผนังวัดพระธาตุดวงเดียว) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.853117244717281.1073741837.267060623322949&type=3